ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ศาลทหารไทยที่ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของบุคคลากรนักกฎหมายทหารมิลืมเลือน ด้วยความซาบซึ้งและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งยังทรงเป็นองค์รัชทายาท
กับพระราชกรณียกิจเสด็จทรงเป็นตุลาการ
ณ ศาลทหารกรุงเทพ
( ภาพจาก ห้องเกียรติยศ โรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ)
วันนั้นคือวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศ ร้อยเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งที่ทรงขับด้วยพระองค์เอง มายังศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อทรงเป็นตุลาการเฉพาะคดี ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของเจ้ากรมพระธรรมนูญในขณะนั้น
ภาพจากวารสารครบรอบ ๑๐๐ ปีกรมพระธรรมนูญ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ |
ภาพจากวารสารกรมพระธรรมนูญ ฉบับประจำเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๙ |
จุดเริ่มต้นของการการกราบบังคมทูลเชิญพระองค์ท่านเสด็จมาทรงเป็นตุลาการศาลทหารกรุงเทพฯ จนกลายเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของวงการกฎหมายทหารนั้น ปรากฏตามคำบอกเล่าของ พลโท สมิง
ไตลังคะ เจ้ากรมพระธรรมนูญในขณะนั้น
ซึ่งบันทึกไว้ในวารสารพระธรรมนูญ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ พอสรุปใจความได้ว่า
เมื่อ พลโท สมิงฯ
รับตำแหน่งเจ้ากรมพระธรรมนูญได้ประมาณห้าปี
ท่านเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ในพระราชอิริยาบถที่ทรงสวมชุดครุยเนติบัณฑิตประทับบนบัลลังค์ศาลสถิตยุติธรรมร่วมกับผู้พิพากษาอื่น อันเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่หน้าห้องทำงานของท่าน ท่านก็นึกถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวิชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศ ร้อยโท
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ว่าถ้าทรงพระราชดำเนินตามรอยพระบุคคลบาทพระราชชนกก็จะเป็นเกียรติประวัติแก่กรมพระธรรมนูญ แต่ขณะนั้นพระองค์ท่านยังมิทรงเป็นทหารประจำการ จึงยังไม่อาจกราบบังคมทูลเชิญมาทรงเป็นตุลาการศาลทหารได้
ครั้นต่อมาเมื่อพระองค์ท่านทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน ประเทศออสเตรเลีย และได้รับพระราชทานพระยศเป็นร้อยเอก อีกทั้งทรงได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงกลาโหมให้ทรงเป็นทหารประจำการในตำแหน่งประจำกรมข่าวทหารบก
ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถได้รับการแต่งตั้งให้ทรงเป็นตุลาการศาลทหารได้ พลโทสมิงฯจึงเริ่มดำเนินการเพื่อกราบบังคมทูลเชิญ
โดยเริ่มจากการจัดทำหนังสือเรื่อง "ศาลทหารไทย" เพื่อทูลเกล้าฯถวายให้ทรงศึกษา ซึ่งท่านและคณะได้เข้าเฝ้าและทูลเกล้าถวายหนังสือดังกล่าว ณ
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงซักถามและรับสั่งกับท่านเจ้ากรมพระธรรมนูญด้วยความสนพระทัย
และทรงมีพระราชปรารภว่าจะหาโอกาสเสด็จมาประทับเป็นตุลาการศาลทหารกรุงเทพด้วย
พลโท สมิง ไตลังคะ เจ้ากรมพระธรรมนูญ(ในขณะนั้น) และคณะ เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯถวายหนังสือ ศาลทหารไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๙ (ภาพจากวารสารกรมพระธรรมนูญ ประจำเดือน ธันวาคม ๒๕๑๙) |
และไม่นานหลังจากนั้น พระองค์ท่านก็ได้เสด็จมายังศาลทหารกรุงเทพฯ
ตามคำกราบบังคมทูลของท่านเจ้ากรมพระธรรมนูญ
นับเป็นข่าวดีสำหรับท่านเจ้ากรมพระธรรมนูญ
ซึ่งได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
เพื่อเตรียมการรับเสด็จ
(
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในการเตรียมการรับเสด็จของเจ้ากรมพระธรรมนูญ
ได้จากบทความ “เปิดบันทึกพลโท สมิง ไตลังคะ กับภารกิจประวัติศาสตร์รับสด็จตุลาการศาลทหารกรุงเทพ”)
การเสด็จมาทรงเป็นตุลาการศาลทหารกรุงเทพในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๙ นั้น ทรงปปฏิบัติหน้าที่ตุลาการเฉพาะคดี ร่วมกับพันเอก พิบูลย์ จันทโรจวงศ์ (ยศในขณะนั้น)เป็นตุลาการพระธรรมนูญ และ พลเรือตรีชัชรินทร์ พุ่มอิ่มผล(ยศในขณะนั้น) เป็นตุลาการร่วม ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ จำนวน ๓ คดี คือ
ภาพจากวารสารกรมพระธรรมนูญ ประจำเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๙ |
ภาพจากวารสารกรมพระธรรมนูญ ประจำเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๙ |
๑.
คดีดำที่ ๓๗๙/๒๕๑๙ ความอาญาระหว่างอัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นโจทก์ฟ้อง สิบโท สมชาย
สุวรรณคีรี เป็นจำเลย ความผิดฐานมีอาวุธปืน
เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ๓
เดือน (สามเดือน) และปรับ ๕๕๐ บาท(ห้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน) อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางให้ริบ โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยไว้ภายในกำหนด ๑ ปี(หนึ่งปี) ส่วนโทษปรับนั้น ปรากฏว่าจำเลยต้องคุมขังมาพอแก่โทษแล้ว จึงให้ปล่อยตัวไป
๒.
คดีดำที่ ๓๘๐/๒๕๑๙ ความอาญาระหว่าง อัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นโจทก์ฟ้อง สิบเอก สมเด็จ แสงคำ
เป็นจำเลย
ความผิดฐานมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย
๓ เดือน(สามเดือน) และปรับ ๕๕๐ บาท(ห้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน)
โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยไว้ภายในกำหนด ๑ ปี(หนึ่งปี) ส่วนค่าปรับให้บังคับตามกฎหมาย
๓.
คดีดำที่ ๓๘๑/๒๕๑๙ ความอาญาระหว่าง อัยการศาลทหารกรุงเทพ
เป็นโจทก์ฟ้อง จ่าเอก จักรชัย อุ่นใจ เป็นจำเลย ความผิดฐานเปิดสถานบริการประเภทมีดนตรี เต้นรำ
จำหน่ายสุรา
และมีหญิงพาร์ทเนอร์บริการ โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลย ๕๐๐ บาท และให้บังคับค่าปรับตามกฎหมาย
หลังจากศาลพิพากษา จำเลยคดีที่ ๒ และ ๓
นำค่าปรับมาชำระต่อศาลครบถ้วนแล้ว
จำเลยทั้งสามคนจึงไม่มีโทษทัณฑ์ทางอาญาใดๆต่อไปอีก(ปรากฏตามรายงาน ตอนท้ายของหนังสือ กรมพระธรรมนูญ ที่ กห ๐๒๐๒(๐๒)/๔๖ ลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๒๐ )
ภาพหน้าปก วารสารกรมพระธรรมนูญ ฉบับประจำเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๙ |
นับเป็นพระราชกรณียกิจหนึ่งที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถทางด้านกฎหมายและกระบวนพิจารณาความในศาลทหาร อีกทั้งเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อกรมพระธรรมนูญ และบุคคลการในสายงานกฎหมายทหาร อันเป็นเกียรติประวัติที่จารึกมาถึงปัจจุบัน โดยมีการบันทึกไว้ในวารสารกรมพระธรรมนูญ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือน ธันวาคม ๒๕๑๙ , วารสารครบรอบ ๑๐๐ ปีกรมพระธรรมนูญซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙
และปัจจุบันทางโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ ยังคงเก็บรักษาและจัดแสดงสำเนาคำพิพากษา
ภาพเหตุการณ์ และภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ไว้ในห้องเกียรติยศของโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ตลอดไป
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
- วารสารกรมพระธรรมนูญ ฉบับประจำเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๙
- วารสาร ๑๐๐ ปี กรมพระธรรมนูญ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙
- ห้องเกียรติยศ โรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น