คำสั่งพักราชการ เป็นมาตรการทางปกครองสำหรับดำเนินการต่อทหารที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับการปลดออกจากราชการ แต่ก็มีผลกระทบต่อสถานภาพหน้าที่การงาน และอาจพ่วงไปถึงการเงินของผู้ได้รับคำสั่งไม่น้อย
วันนี้เราจะมาดูกันว่า ชะตากรรมของข้าราชการทหารที่ถูกสั่งพักราชการจะเป็นไปในทิศทางใดบ้าง และจะมีแนวทางผ่อนหนักเป็นเบาได้หรือไม่ อย่างไร
ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ.๒๕๒๘ ข้อ ๕ ระบุสาเหตุของการสั่งพักราชการข้าราชการทหาร คือ ข้าราชการผู้นั้นถูกฟ้องคดีอาญา หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา ( ยกเว้นความผิดลหุโทษหรือความผิดที่กระทำโดยประมาท ) หรือต้องหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง จนต้องถูกสอบสวนเพื่อลงทัณฑ์สถานหนัก และผู้บังคับบัญชาเห็นว่าถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่ราชการในระหว่างที่พิจารณาหรือสอบสวนคดีแล้วจะทำให้ราชการเสียหาย ผู้บังคับบัญชาก็จะสั่งพักราชการ โดยมีผลตั้งแต่วันออกคำสั่ง
ระยะเวลาในการถูกพักราชการนั้น โดยปกติแล้วจะต้องถูกพักราชการจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือสอบสวนเสร็จ
แต่ต่อมามีการผ่อนปรนตามข้อบังคับฯ ( ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๕๕ ว่า ข้าราชการทหารที่ถูกสั่งพักราชการอาจขอกลับเข้ารับราชการได้ แม้ในระหว่างที่การพิจารณาหรือการสอบสวนยังไม่เสร็จ หากเข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอได้ คือ
หนึ่ง ผู้บังคับบัญชาเห็นควรให้กลับเข้ารับราชการได้ เพราะพฤติการณ์ของผู้ที่ถูกสั่งพักพักราชการนั้นไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพิจารณาหรือการสอบสวน หรือไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบอีกต่อไปแล้ว หรือ
สอง การดำเนินการทางวินัยนั้นผ่านไปเกินหนึ่งปีแล้วก็ยังไม่เสร็จซะที และผู้ที่ถูกดำเนินการนั้นก็ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุให้ถูกดำเนินการแล้ว
หากร้องขอและเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือสองอย่างข้างต้น ผู้บังคับบัญชาก็อาจพิจารณาให้ผู้ที่ถูกพักราชการนั้น กลับเข้ารับราชการได้ตามเดิม
และเมื่อคดีถึงที่สุดหรือการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ว่าผู้นั้นจะยังถูกสั่งพักราชการอยู่ หรือได้รับอนุญาตให้กลับเข้ารับราชการได้แล้วก็ตาม ชะตากรรมจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาคดีอันเป็นที่สุด หรือผลการสอบสวนนั้น
หากผลออกมาว่า ผู้ที่ถูกสั่งพักราชการไม่มีความผิด ไม่มีมลทินหรือมัวหมอง ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือเทียบเท่า นับตั้งแต่วันสั่งพักราชการ ( ก็คือจะมีผลเท่ากับไม่เคยมีการสั่งพักราชการ )
ถ้าผู้สั่งพักราชการไม่มีความผิด แต่ยังมีมลทินหรือมัวหมอง เช่น พ้นผิดมาได้แบบคลุมเครือ ยังเป็นที่กังขา ข้องใจของสังคม หรือพ้นผิดในลักษณะกระทำผิดแต่กฎหมายไม่เอาผิด เช่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยอ้างป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น ลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาว่าจะสั่งให้กลับเข้ารับราชการ หรือจะให้ออกจากราชการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง ( ไม่มีผลย้อนหลังเหมือนกรณีให้กลับเข้ารับราชการเพราะไม่มีความผิดและไม่มีมลทินมัวหมอง )
กรณีสุดท้าย คือปรากฎว่ามีความผิด ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งให้ราชการ ส่วนจะให้ออกแบบมีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญหรือไม่นั้นก็ต้องไปพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ระบุตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัดฯ และ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ
โดยถ้าให้ออกโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ คำสั่งให้ออกนั้นจะมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันสั่งพักราชการ แต่ถ้าให้ออกแบบมีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ จะมีผลตั้งแต่วันออกคำสั่ง ( ไม่ย้อนหลัง )
อย่างไรก็ตาม ยังพอมีหนทางรอดสำหรับผู้ถูกสั่งพักราชการที่กระทำความผิด คือ ถ้าศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดแต่รอการกำหนดโทษ รอการลงโทษ หรือลงโทษจำคุกและปรับแต่ให้ยกโทษจำคุก หรือให้รอการลงโทษจำคุกไว้ หรือแค่ปรับสถานเดียว หรือเป็นกรณีผู้บังคับบัญชาสั่งลงทัณฑ์ทางวินัย ซึ่งความผิดนั้นไม่เกี่ยวกับการทุจริตหรือประโยชน์ของทางราชการ กรณีเหล่านี้ผู้บังคับบัญชาอาจสั่งให้กลับเข้ารับราชการหรือให้ออกก็ได้ ( เป็นทางเลือกของผู้บังคับบัญชาเช่นเดียวกับกรณีไม่มีความผิดแต่มีมลทิน )
สำหรับเงินเดือนที่ถูกงดระหว่างสั่งพักราชการ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการตัด งด และจ่ายเงินรายเดือน พ.ศ.๒๕๐๔ กำหนดแนวทางปฏิบัติว่า
เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วปรากฎว่าไม่มีความผิด ซึ่งจะได้กลับเข้ารับราชการ เงินเดือนที่ถูกงดจ่ายก็จะได้รับคืนเต็มจำนวน
ถ้าไม่มีความผิดแต่มีมลทินมัวหมอง หรือมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือรอลงอาญา และผู้บังคับบัญชาพิจารณาให้กลับเข้ารับราชการ เงินเดือนที่ถูกงดไว้จะได้คืนไม่เกินครึ่งหนึ่งของเงินอัตราเงินเดือนที่ได้รับก่อนถูกควบคุมตัวหรือถูกสั่งพักราชการ ยกเว้นค่าเช่าบ้านจะได้รับคืนเต็มจำนวน
ถ้าศาลพิพากษาว่ามีความผิด ให้จำคุกหรือหนักกว่าจำคุก หรือถูกปลด ถูกถอดยศ ถูกให้ออกแบบไม่มีบำเหน็จบำนาญ เงินที่งดจ่ายตอนพักราชการก็เลิกหวังไปได้เลย
ถ้าโชคร้ายหนักกว่านั้น ดันตายในระหว่าถูกพักราชการ โดยที่คดียังไม่ถึงที่สุด หรือการสอบสวนยังไม่เสร็จ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยตามหลักฐานที่มีอยู่ว่าจะจ่ายคืนให้มากน้อยเพียงใด