8 เมษายน 2559

ระวางโทษสำหรับทหารที่ไปทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น

จากบันทึกฉบับที่แล้ว เรื่อง "เมื่อถูกทหารทำร้ายร่างกาย จะดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างไร"  จะเห็นได้ว่า หากเกิดเหตุการณ์ทหารไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหารด้วยกัน  ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่จะคุ้มครองทหารเป็นกรณีพิเศษมิให้ต้องรับผิด  ตรงข้าม  อาจจะต้องรับผิดเพิ่มขึ้น  ขึ้นอยู่กับสถานภาพของผู้ถูกทำร้าย


ในกรณีทหารไปทำร้ายร่างกายพลเรือน หรือบุคคลทั่วไปที่มิใช่ทหาร

หากทำร้ายร่างกายเพียงเล็กน้อย  ไม่ถึงกับบาดเจ็บจนเรียกว่าได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ( ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป )  เช่น  ตบหน้า ๑ ครั้ง  ชกต่อยให้ฟกช้ำเล็กน้อย ๒ - ๓ วันก็หาย  กรณีแบบนี้ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายแต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ  เป็นความผิดลหุโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๑  ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑  เดือน  หรือปรับไม่เกิน  ๑๐,๐๐๐  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ถ้าลงไม้ลงมือถึงขั้นเลือดตกยางออก  กล้ามเนื้อฉีกขาด เรียกว่าได้รับอันตรายแก่รา่งกาย หรือถึงขั้นสลบไสลไม่ได้สติหลายวัน แม้อาการภายนอกจะดูเหมือนไม่เป็นอะไรมาก แต่ก็ถือว่าได้รับอันตรายแก่จิตใจ  ซึ่งหากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ  การกระทำจะเข้าองค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  ๒๙๕  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี  หรือปรับไม่เกิน ๔,๐๐๐ บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากเมื่อพิจารณาจากลักษณะการทำร้ายร่างกาย เป็นการทำร้ายบุพการี  , ทำร้ายเจ้าพนักงาน ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน , ทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองเอาไว้ก่อน  โดยทรมานโหดร้าย หรือทำร้ายเพื่อความสะดวกในการกระทำผิดหรือปกปิดความผิดอย่างอื่น พฤติการณ์เหล่านี้ถือเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ผู้กระทำต้องรับโทษสูงขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๖ คือ ระวางโทษไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับ " อันตรายสาหัส" ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา  ๒๙๗ เช่น ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะ  เสียโฉมติดตัว ( คือรักษาให้กลับมาดีเหมือนเดิมไม่ได้ ) ทุพพลภาพ  ทนทุกข์เวทนาหรือทำการงานปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน  เหล่านี้เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือน ถึง ๑๐ ปี และยิ่งถ้าบวกด้วยพฤติกรรมการทำร้ายที่เป็นเหตุฉกรรจ์ตามที่กล่าวมาแล้ว ระวางโทษก็จะเพิ่มขึ้นเป็นจำคุกเริ่มตั้นตั้งแต่ ๒ - ๑๐ ปี   ( ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๘ )

บางกรณีทหารอาจไม่ได้ลงมือหรือตั้งใจทำร้ายใครโดยตรง  แต่เข้าไปร่วมในการชุลมุนต่อสุ้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป แล้วเกิดมีผู้ได้รับอันตรายสาหัส ( คือบาดเจ็บด้วยอาการตาม ป.อาญา มาตรา ๒๙๗ ) ก็ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะแสดงให้เห็นได้ว่า ตนได้เข้าไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้ หรือป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็จะไม่ต้องรับโทษ ( ป..อาญา มาตรา ๒๙๙ )

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ - ๒๙๙ ที่กล่าวมานี้ ถ้าทหารกระทำความผิดดังกล่าวในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ยามรักษาการณ์  หรือปฏิบัติภารกิจใดๆที่มีอาวุธของหลวงติดตัวอยู่ด้วย ต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นอีกครึ่งหนึ่ง ( ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๕๐ ) 

ในกรณีที่ทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ( ไม่ได้มีเจตนาฆ่ามาแต่ต้น ) ระวางโทษจำคุก  ๓ - ๑๕ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๐

แต่ถ้าหากผู้ถูกทำร้ายเป็นทหารด้วยกัน  นอกจากจะต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญาดังที่ยกมาข้างต้นแล้ว  ยังมีกฎหมายของทางทหาร  คือ  ประมวลกฎหมายอาญาทหาร  ที่บัญญัติโทษไว้เป็นการเฉพาะด้วย  ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดโทษตามสถานะของทหารผู้ถูกทำร้าย

ถ้าทหารที่ถูกทำร้ายนั้นอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เวรยาม  ผู้กระทำมีความผิดฐานทำร้ายทหารยาม ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษตามแต่สถานการณ์  คือ
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาปกติ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาสงคราม หรือในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ - ๒๐ ปี
        - ถ้ากระทำความผิดต่อหน้าราชศัตรู ระวางโทษ ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต  หรือ จำคุกตั้งแต่ ๕ - ๒๐ ปี
         และถ้าผลของการทำร้าย ทำให้ผู้ถูกทำร้ายถึงตาย หรือบาดเจ็บสาหัส ก็ต้องระวางโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

ถ้าผู้ถูกทำร้าย เป็นผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำผิด  ผู้กระทำจะมีความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายผู้บังคับบัญชา ามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษตามแต่สถานการณ์  คือ
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาปกติ ระวางโทษจำคุก ๑ - ๗ ปี
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาสงคราม หรือในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ - ๒๐ ปี
         - ถ้ากระทำความผิดต่อหน้าราชศัตรู ระวางโทษ ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต  หรือ จำคุกตั้งแต่ ๕ - ๒๐ ปี

ถ้าผู้ถูกกระทำมิใช่ผู้บังคับบัญชา  แต่เป็นนายทหารผู้ใหญ่เหนือกว่าผู้กระทำ ( ดูข้อแตกต่างระหว่าง ผู้บังคับบัญชา กับ ผู้ใหญ่ ได้ ในบันทึก " ยศสูงกว่า ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้บังคับบัญชาเสมอไป " ) ผู้กระทำมีความผิดฐานทำร้ายทหารผู้ใหญ่  ตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๓๙ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน  ๕  ปี

หากผลแห่งการทำร้ายผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่นั้น ทำให้ผู้ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ชีวิต ผู้กระทำก็ต้องรับโทษในอัตราที่หนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย ( ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๔๐ )

ถ้าลักษณะพฤติกรรม เป็นการร่วมกันทำร้ายผู้อื่นโดยผู้กระทำเป็นทหารตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปซึ่งมั่วสุมกัน เป็นความผิดฐานกระทำการกำเริบ ตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๔๒ ซึ่งต้องระวางโทษตามสถานการณ์ คือ
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาปกติ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาสงคราม หรือในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ - ๒๐ ปี

        - ถ้ากระทำความผิดต่อหน้าราชศัตรู ระวางโทษ ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต  หรือ จำคุกตั้งแต่ ๓ - ๒๐ ปี

และทหารแม้เพียงคนใดคนหนึ่งที่มั่วสุม ทำร้ายผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๔๒ นั้นมีอาวุธด้วย  คนอื่นที่ร่วมกระทำการนั้นแม้ไม่มีอาวุธก็ต้องรับโทษแบบเดียวกันไปด้วย โดยมีระวางโทษเพิ่มสูงขึ้น คือ
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาปกติ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาสงคราม หรือในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ - ๒๐ ปี
        - ถ้ากระทำความผิดต่อหน้าราชศัตรู ระวางโทษ ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต  หรือ จำคุกตั้งแต่ ๕ - ๒๐ ปี

    




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น