7 เมษายน 2559

แนวทางการดำเนินคดีทำร้ายร่างกาย ที่มีทหารเป็นคู่กรณี

แม้ว่าทหารจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการฝึกอบรมให้เป็นสุภาพบุรุษ  มีความอดทน  อยู่ในระเบียบวินัย 

แต่ด้วยความที่เป็นสังคมใหญ่พอสมควร มีจำนวนสมาชิกมาก  ประกอบกับทหารเองก็ยังจัดว่าเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ยังอยู่ภายใต้อารมณ์รัก โลภ  โกรธ  เกลียด  จึงมีความเป็นไปไปได้ที่จะมีการกระทบกระทั่งกัน  ไม่ว่าจะระหว่างทหารด้วยกันเอง  หรือกับบุคคลภายนอก  จนบางครั้งก็กลายเป็นชนวนวิวาท  หรือถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกาย  เป็นเรื่องเป็นราวกันขึ้นมา

บันทึกนายทหารพระธรรมนูญฉบับนี้  จึงขอกล่าวถึงแนวทางดำเนินการทางกฎหมาย  สำหรับคดีทำร้ายร่างกาย  ที่มีทหารเป็นคู่กรณี  ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ 



กรณีที่ผู้กระทำเป็นทหาร  ไม่ว่าจะเป็นทหารประจำการ  คือ  บรรดาข้าราชการทหาร ทั้งนายสิบ  นายร้อย นายพัน  นายพล  หรือเป็นทหารกองประจำการ  คือ บรรดาน้องๆพลทหารหรือแม้แต่เป็นนักเรียนทหาร เช่น นักเรียนนายสิบ  นายเรียนนายร้อย บุคคลเหล่านี้เรียกว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ( ตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ ) ซึ่งต้องฟ้องคดีและพิจารณาคดีในศาลทหาร 

ยกเว้นจะมีพลเรือน  ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร  มาร่วมลงมือด้วย  อย่างนี้เป็นข้อยกเว้น ที่ต้องไปพิจารณาคดีในศาลพลเรือน 

ส่วนกระบวนการก่อนเข้าสู่ศาล  ก็ไม่ต่างจากกระบวนการยุติธรรมของพลเรือนมากนัก  คือมีการร้องทุกข์  สอบสวน  ส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการทหารพิจารณาสั่งฟ้อง

การร้องทุกข์  ผู้เสียหายซึ่งไม่ว่าจะเป็นทหารด้วยกันหรือพลเรือน  สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนคดีอาญาทั่วไป  หรือร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำผิด  เพื่อให้พิจารณาสั่งให้มีการีสอบสวนการกระทำผิด 

ผู้มีอำนาจสอบสวนความผิด  ตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมายมีอำนาจสอบสวนอยู่แล้ว  ส่วนทางฝ่ายทหาร ก็มีนายทหารพระธรรมนูญ ( นธน.) อัยการทหาร ( สอบสวนเพิ่มเติม ) หรือนายทหารสัญญาบัตรที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย 

เมื่อสอบสวนเสร็จ ก็จะสรุปผลการสอบสวน  ส่งให้อัยการทหารพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่  หรือต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม หรือต้องส่งให้พนักงานอัยการ ( พลเรือน ) รับไปดำเนินคดีในศาลยุติธรรม หากเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร 

ผู้เสียหายเองก็อาจเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการทหาร  ยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหารในเวลาปกติได้  

หรือยิ่งถ้าผู้เสียหายเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารด้วย เช่น เป็นทหารด้วยกัน ก็อาจยื่นฟ้องต่อศาลทหารในเวลาปกติได้โดยตรง  แต่ทั้งนี้ก็ต้องผ่านขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องเช่นเดียวกับคดีอาญาของพลเรือน 

เมื่อคดีเข้าสู่ศาล ศาลก็จะดำเนินกระบวนการพิจารณา  ซึ่งก็จะนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้กันในศาลพลเรือนมาใช้ด้วย เช่น การนัดยื่นคำให้การ การนัดพิจารณา เป็นต้น

เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจริง และกำหนดบทลงโทษ  ซึ่งปกติก็จะเป็นโทษจำคุกแล้ว ก็จะส่งหมายแจ้งโทษเด็ดขาด ไปให้ผู้มีอำนาจลงโทษ ลงนามเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา

ผู้มีอำนาจลงโทษ ( ตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๖๕ ) ได้แก่ ผู้บังคับบัญชาของจำเลยชั้น ผบ.พล.ขึ้นไป  หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหารชั้นต้น ( ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกขึ้นไป ) หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลประจำหน่วยทหาร หรือศาลอาญาศึก ( ซึ่งเป็นศาลทหารที่ตั้งขึ้นในพื้นที่พิเศษ ) 

การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลทหาร ซึ่งปกติคือโทษจำคุกนั้น ก็จะส่งไปจำคุกในเรือนจำทหาร  ส่วนถ้าเป็นคำพิพากษาศาลยุติธรรม ( กรณีที่ส่งไปพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม ) ก็ดำเนินการไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

อีกกรณีหนึ่ง คือ ทหารเป็นผู้เสียหาย คือเป็นผู้ถูกทำร้ายร่างกาย  แนวทางการดำเนินคดี ก็ต้องดูจากผู้กระทำ ว่าเป็นทหารด้วยกัน หรือไปถูกพลเรือนทำร้ายร่างกายเข้าให้

ถ้าถูกทหารด้วยกันทำร้าย ก็ใช้แนวทางตามที่กล่าวมาข้างต้น 

ถ้าถูกพลเรือนทำร้าย ก็ดำเนินการเหมือนคดีอาญาทั่วไป คือแจ้งความต่อตำรวจ ซึ่งกรณีแบบนี้พนักงานสอบสวนมีอำนาจเต็มในการสอบสวน ก่อนจะส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลยุติธรรม

หรืออีกช่องทางหนึ่ง หากไม่ทันใจก็เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรง โดยไม่ผ่านพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ แต่วิธีนี้ก็ต้องผ่านกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องจากศาลก่อน ว่าคดีมีมูลพอที่ศาลจะรับฟ้องหรือไม่ 

สำหรับระวางโทษคดีทำร้ายร่างกาย ที่มีทหารเป็นคู่กรณี จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะพฤติกรรมการทำร้าย และสถานภาพของผู้ถูกทำร้าย  ซึ่งจะกล่าวถึงในบันทึกฉบับต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น