15 ตุลาคม 2558

ก่อน ( กว่า ) จะมาเป็นนายทหารพระธรรมนูญ

บทความเปิดตัว “บันทึกนายทหารพระธรรมนูญ” บล็อกใหม่ของผู้เขียน หลังผ่านการสอบคัดเลือก ได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติราชการในตำแหน่งนายทหารพระธรรมนูญมาได้ระยะหนึ่ง จึงถือโอกาสในช่วงเวลาเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ เปิดพื้นที่ใหม่สำหรับนำเสนอบทความเพื่อแบ่งปันเรื่องราวการทำงานในฐานะทหารผู้ใช้กฎหมาย   เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจไม่มากก็น้อยหลายท่านคงจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ “ นายทหารพระธรรมนูญ ” ซึ่งบางท่านเรียกเพี้ยนเป็น “นายทหารรัฐธรรมนูญ ” บ้างไม่มากก็น้อย ในขณะที่บางท่านอาจจะรู้จักเพียงผิวเผินหรือไม่รู้จักเลยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก บทความแรกของ “ บันทึกนายทหารพระธรรมนูญ” วันนี้จึงขอแนะนำเส้นทางการทำงานของนายทหารพระธรรมนูญกันก่อน


นายทหารพระธรรมนูญคือใคร

นายทหารพระธรรมนูญ ( นธน.) ก็คือข้าราชการทหารฝ่ายกฎหมายของหน่วย  เทียบได้ประมาณนิติกร ที่ปรึกษากฎหมายขององค์กรหรือหน่วยงานเอกชน และบางครั้งก็อาจจะต้องปฏิบัติงานลักษะเดียวกับทนายความ คือ ว่าความแทนหน่วยหรือคนในหน่วยงานเดียวกับตน หรือบางทีก็ต้องเป็นเหมือนตำรวจในการทำหน้าที่สอบสวนคดีตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ( แต่ไม่ได้ไปไล่จับใครนะครับ เพราะหน้าที่นั้นมีสารวัตรทหาร หรือ สห.เขาทำอยู่แล้ว )

นายทหารพระธรรมนูญจะเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร  คือ มียศตั้งแต่ร้อยตรี ( ทหารบก ) เรือตรี              ( ทหารเรือ ) หรือเรืออากาศตรี ( ทหารอากาศ ) ขึ้นไป เหล่าพระธรรมนูญ สังกัดตามหน่วยทหารต่างๆ อย่างถ้าเป็นกองทัพบกก็ตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หนึ่งกรมมีหนึ่งนาย      โดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแล คือ กรมพระธรรมนูญ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม


นายทหารพระธรรมนูญต้องทำอะไรบ้าง
หน้าที่ทั่วไปของนายทหารพระธรรมนูญ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยนายทหารพระธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๙ หรือเรียกย่อๆว่า ขนธ.๙๙ มีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑. สืบสวนและสอบสวนคดีตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
     “สืบสวน” หมายถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานต่างๆตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ ( ซึ่งปกติทั่วไปจะเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ นายทหารพระธรรมนูญก็มีอำนาจหน้าที่นี้ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ) เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อทราบรายละเอียดของความผิดที่มีผู้กระทำขึ้น
    “ สอบสวน ” หมายถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการอื่นๆของพนักงานสอบสวน ( ซึ่งปกติก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนั่นแหล่ะ ส่วนเจ้าหน้าที่อื่นๆที่จะเป็นพนักงานสอบสวนก็ต้องมีกฎหมายหรือคำสั่งรองรับ ) เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด หรือเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
๒. เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของผู้บังคับบัญชา ซึ่งอาจจะเป็นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง กฎหมายทหาร หรือกฎหมายพิเศษอื่นๆ แล้วแต่สถานการณ์และความจำเป็นที่ผู้บังคับบัญชาต้องการคำปรึกษา
๓. พิจารณาและเสนอความเห็นทางกฎหมาย ทางปกครอง และทางวินัย ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
๔. ในทางวิทยาการ ให้หน่วยทหารพระธรรมนูญหน่วยรองฟังความเห็นนายทหารพระธรรมนูญหน่วยเหนือตามลำดับสายงาน ประมาณว่าผู้อาวุโสน้อยกว่าต้องฟังผู้มีอาวุโสสูงกว่านั่นแหล่ะครับ
๕. นอกจากนี้ให้มีอำนาจและหน้าที่อื่นๆตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และระเบียบซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทหารพระธรรมนูญ ซึ่งอำนาจหน้าที่ข้อนี้แหล่ะครับที่เป็นเสมือน ปลายเปิด ให้หน่วยงานต่างๆสามารถออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กำหนดอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมให้กับนายทหารพระธรรมนูญได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ของเขตและไม่ขัดต่ออำนาจหน้าที่หลักโดยตรงตามที่กล่าวมา


อยากเป็นนายทหารพระธรรมนูญต้องทำอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า คุณสมบัติหลักๆของนายทหารพระธรรมนูญ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยนายทหารพระธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๙ หรือ ขนธ.๙๙ ที่พูดถึงไปเมื่อสักครู่นี้ กำหนดไว้ว่านายทหารพระธรรมนูญต้องมีคุณสมบัติ ๕ ข้อ คือ
๑. เป็นนายทหารสัญญาบัตร อันนี้ไม่ได้หมายความว่าถ้าใครไม่ได้เป็นทหารหรือไม่ใช่นายทหารสัญญาบัตรแล้วจะเป็นนายทหารพระธรรมนูญไม่ได้นะครับ เพราะมีช่องทางการสอบคัดเลือกซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป ซึ่งเมื่อผ่านการสอบคัดเลือกแล้วก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารสัญญาบัตรเพื่อให้มีคุณสมบัติตามข้อแรกนี้
๒. อายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์
๓. สอบความรู้ทางกฎหมายได้ปริญญาตรี หรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
๔. เป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
    คุณสมบัติข้อนี้อาจจะมีบางคนเข้าใจผิดเหมือนที่ผู้เขียนเคยเข้าใจผิดจนเกือบจะพลาดโอกาสสอบมาแล้ว คือ ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนจบเนติฯมาแล้วเท่านั้นที่จะถือว่าเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา แม้จะยังเป็นนักศึกษาอยู่ก็ถือว่าเป็นสมาชิกแล้ว เพราะสมาชิกเนติบัณฑิตยสภานั้นมี ๕ ประเภท คือ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ ภาคีสมาชิก และสมาชิกกิตติมศักดิ์ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วได้รับขึ้นทะเบียนเป็นสามัญสมาชิก ส่วนนักศึกษาถือเป็นสมาชิกประเภทภาคีสมาชิก หรือถ้าเป็นสมาชิกประเภทอื่นๆที่เหลือ ( ดูรายละเอียดได้จากข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.๒๕๐๗ ) ก็ถือว่ามีคุณสมบัติข้อนี้ที่สามารถเป็นนายทหารพระธรรมนูญได้เช่นกัน
๕. มีความประพฤติเหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่นายทหารพระธรรมนูญ
   ข้อนี้ทางกรมพระธรรมนูญได้กำหนดมาตรฐานคุณธรรมและจริยะรรมของนายทหารพระธรรมนูญไว้ ตามประกาศกรมพระธรรมนูญ เรื่อง มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการในสายงานกรมพระธรรมนูญ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พพ.ศ.๒๕๔๙ รายละเอียดจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้อาจมีคุณสมบัติอื่นๆเพิ่มเติมในการที่จะสมัครสอบ ตามที่หน่วยซึ่งจัดสอบจะกำหนด ตัวอย่างเช่น การสอบคัดเลือกเป็นนายทหารพระธรรมนูญในอัตราของกองทัพบกที่ผู้เขียนผ่านการสอบเข้ามานั้น กำหนดว่าผู้สมัครสอบต้องเป็นข้าราชการทหารชั้นประทวนของกองทัพบกที่รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ ปี ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้มาสอบด้วย เป็นต้น  แต่ได้ยินแบบนี้ ผู้อ่านที่เป็นพลเรือนหรือข้าราชการทหารเหล่าทัพอื่นก็ไม่ต้องถอดใจไปนะครับ เพราะการสอบคัดเลือกนายทหารพระธรรมนูญนั้นมิได้มีเฉพาะของกองทัพบกที่เปิดรับเฉพาะข้าราชการทหารประทวนของเหล่าทัพเท่านั้น ยังมีเหล่าทัพอื่นๆที่เปิดรับสมัคร และบางทีก็อาจจะรับสมัครจากบุคคลภายนอก ซึ่งก็คงต้องติดตามข่าวสารการรับสมัครสอบในแต่ละครั้งไป

การสรรหานายทหารพระธรรมนูญ

นการเปิดสอบ หรือที่เรียกกันว่าการสรรหานายทหารพระธรรมนูญนั้น ปกติแล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมพระธรรมนูญ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจะเป็นผู้ดำเนินการสรรหาโดยการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุในอัตราของเหล่าทัพต่างๆโดยพิจารณาจากการเสนอความต้องของเหล่าทัพ แต่ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางโดยให้แต่ละเหล่าทัพเป็นผู้สรรหา ( เปิดสอบ เองโดยความเห็นชอบของกรมพระธรรมนูญ

การเตรียมตัวสอบนั้น ขอบเขตวิชาที่ใช้ในการสอบคัดเลือกก็ขึ้นอยู่กับเหล่าทัพหรือหน่วยที่เปิดสอบ แต่โดยทั่วไปก็หนีไม่พ้นกฎหมายพื้นฐานทั่วไป อันได้แก่กฎหมาย ๔ มุมเมือง ( แพ่ง อาญา วิ.แพ่ง วิ.อาญา ) และกฎหมายที่ต้องใช้หรือต้องรู้ในราชการทหารหรือกระบวนการยุติธรรมทางทหาร เช่น กฎหมายอาญาทหาร กฎหมายศาลทหาร กฎหมายความมั่นคง เป็นต้น 

อย่างการสอบคัดเลือกของกรมพระธรรมนูญเพื่อคัดเลือกนายทหารพระธรรมนูญในอัตราของกองทัพบกในปีที่ผู้เขียนสอบคัดเลือกนั้น วิชาที่สอบประกอบด้วย ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญาทหาร  กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระธรรมนูญศาลทหาร วิชาแบบธรรมเนียมทหาร       กฎหมายความมั่นคง ( พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ , พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ , พ.ร.ก.การปฏิบัติราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ) ระเบียบงานสารบรรณ  และความรู้ทั่วไป ซึ่งก็สามารถหาสืบค้นหาข้อมูลสำหรับเตรียมตัวสอบได้ไม่ยาก จากหนังสือกฎหมายทั่วไป และข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต

การสอบ ( ในการจัดสอบโดยกรมพระธรรมนูญ ) จะมีสอบรอบ คือ รอบแรกสอบภาควิชาการ ( ข้อเขียน/อัตนัย ) และรอบสองสอบปากเปล่าและสอบสัมภาษณ์ โดยมีคณะกรรมการจากกรมพระธรรมนูญเป็นผู้คัดเลือก

หากจะถามถึงความยากง่ายของการสอบ ถ้าผู้เขียนตอบว่าไม่ยากก็อาจทำให้ผู้อ่านหลายท่านหมั่นไส้ ครั้นจะตอบในทางตรงข้ามก็เกรงว่าอาจทำให้หลายคนถอดใจละทิ้งโอกาสในการเข้ารับการสอบคัดเลือก อันจะส่งผลให้วงการพระธรรมนูญอาจจะพลาดโอกาสได้รับคนดีมีความรู้ความสามารถหลายท่านเหล่านั้นเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกครอบครัวทหารนักกฎหมายก็เป็นได้ งั้นผู้เขียนขอแสดงความเห็นแบบกลางๆว่า  มาตรฐานการสอบคัดเลือกของกรมพระธรรมนูญอยู่ในระดับที่สูงพอจะกลั่นกรองผู้ที่มีความรู้เพียงพอเพื่อเข้าไปปฏิบัติงาน แต่ก็มิได้ยากเสียจนพ้นวิสัยของนิติศาสตร์บัณฑิตทั่วไปที่จะผ่านการทดสอบ 

สำหรับในบางปีที่แต่ละเหล่าทัพจัดสอบเอง เช่นปีนี้ที่กรมยุทธศึกษาทหารบก เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลพลเรือนหรือทหารกองหนุนคุณวุฒิปริญญาเข้าเป้นนายทหารสัญญาบัตร ซึ่งมีตำแหน่งนายทหารพระธรรมนูญอยู่ด้วยนั้น ขอบเขตการสอบก็คงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศหรือระเบียบการ ซึ่งมาตรฐานการคัดเลือกก็คงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เพื่อคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาปฏิบัติงานด้านกฎหมายสายทหาร และในส่วนของความรู้ที่จะใช้ในประเมินเพื่อคัดเลือกนั้น ก็น่าจะวนเวียนอยู่ในแนวทางเดียวกับที่กรมพระธรรมนูญเป็นผู้จัดสอบเอง

ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการสอบคัดเลือกทุกคน ขอให้เชื่อมั่นในตนเอง ถ้ามีพื้นความรู้ดี  เตรียมตัวมาดี มีความตั้งใจที่จะเป็นทหารนักกฎหมาย ดาวประดับบ่าและเครื่องหมายพระดุลพ่าห์ ( สัญลักษณ์เหล่าพระธรรมนูญ ) คงไม่ไกลเกินไขว่คว้าแน่นอน









29 ความคิดเห็น:

  1. พอจะสงเคราะห์แนวข้อสอบได้หรือเปล่าครับ ผู้หมวด ^^

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ต้องขออภัยจริงๆนะครับ ผมไม่มีข้อมูลส่วนนั้นจริงๆ ลองค้นหาดูจากคู่มือเตรียมสอบที่เคยเห็นมีผู้จัดทำไว้โดยเฉพาะ เช่น ในเว็บ Testthai.com , sheetthai.com หรือเว็บอื่นๆในลักษณะเดียวกันนี้ดูนะครับ ^^

      ลบ
  2. คำตอบ
    1. บางหน่วยรับเฉพาะเพศชาย แต่บางหน่วยก็เปิดรับทั้งชายหญิงครับ

      ลบ
  3. ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล😁😁😁

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล😁😁😁

    ตอบลบ
  5. เด็กรามจะเข้าได้ไมค่ะ คงมีโอกาสอยู่บ้างรึเปล่าค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ได้สิครับ ผู้เขียนก็เป็นลูกพ่อขุนเหมือนกันนะ ^^

      ลบ
  6. ผู้หญิงเป็นได้ไหมค่ะ

    ตอบลบ
  7. เงินเดือนเท่าไหรครับ

    ตอบลบ
  8. ก็ต้องเรียน นิติศาสตร์ใช่ไหมคะ พอดีเลือกอยู่จะเรียนแบบพรีดีกรี ม.รามควบม.ปลายด้วย อยากเป็นทหารอากาศหญิงคะ😁😁

    ตอบลบ
  9. เรียนรัฐศาสตร์เป็นได้หรือเปล่าครับ

    ตอบลบ
  10. ผู้หญิงได้เข้าหน่อยไหนได้ค่ะ คือหนูอยากเป็นทหารพระธรรมนูญ แต่หนูยังอยู่ม.5ค่ะ

    ตอบลบ
  11. เงินเดือน แรกเข้าบรรจุเท่าไหร่ครับ มีเงินอื่น ด้วยไหม

    ตอบลบ
  12. ถ้าบรรจุแล้วเป็นขรก.ทหาร หรือลูกจ้างครับ

    ตอบลบ
  13. คุณsuriyunให้ความรู้ได้ดีมากๆชื่นชมๆ

    ตอบลบ
  14. ตอนนี้ผมพึ่งสอบติดสิบตรีเหล่าแพทย์ แต่นายทหารพระธรรมนูญคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตผม ผมผ่านขั้นแรกมาได้แล้ว อีก6ปี พบกันใหม่

    ตอบลบ
  15. มีประโยชน์มากๆคับ ขอบคุณที่ชี้แนะคับ

    ตอบลบ
  16. ผมเป็นนักศึกษา ชื่อยังอยู่ในบัญชีทหารกองเกิน ปีพศ๒๕๖๒ จะสมัครเข้าเป็นพลทหารโดยใช้วุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลาย คงได้๑ปี และคาดว่าจะสอบเข้าโรงเรียนนายสิบเป็นนายสิบ และเข้าไปสอบเป็นนายทหารเหล่าพระธรรมนูญ คงจะต้องใช้เวลาสักเล็กน้อย แต่จุดหมายผมคืออะไรนั้นผมไม่อาจลืมได้เลย

    ตอบลบ
  17. ถ้ามาจากทหารชั้นประทวนของทอ.ไม่จำเป็นต้องรอ
    รับราชการมา6ปีใช่ไหมครับถึงสามารถสอบได้เพราะต่างเหล่าเลยสามารถสอบของทบ.ได้ใช่ไหมครับ

    ตอบลบ
  18. สอบนายทหารสัญญบัตรกลุ่มนิติศาสตร์เพื่อเป็นทหารพระธรรมนูญด้วยหรือเปล่าครับ หรือต้องสอบเฉพาะ

    ตอบลบ
  19. สอบนายทหารสัญญาบัตรในกลุ่มนิติศาสตร์ ใช่สอบเพื่อเป็นนายทหารพระธรรมนูญหรือมีหน้าที่อย่างอื่นด้วยครับ

    ตอบลบ
  20. ผมเป็นทหารประ ทวนมีวุฒิ นิติ เป็นสมาชิกภาคีไหมครับ แล้วต้องแสดงอะไรว่าเป็นสมาชิกครับ รบกวนด้วย

    ตอบลบ