16 ตุลาคม 2558

ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา....ข้อหายอดฮิตของทหาร


การปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาถือเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของทหาร เพราะสะท้อนถึงความมีวินัยอันเป็นอัตตลักษณ์ประจำวิชาชีพ    ดังนั้นทหารทุกนายจึงจะได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักถึงความสำคัญของคำสั่งผู้บังคับบัญชา และโทษที่เกิดจากการฝ่าฝืน ซึ่งมีตั้งแต่โทษทางวินัยเล็กๆน้อยๆไปจนถึงโทษทางอาญาแบบว่าส่งไปนอนในห้องขัง หรือหนักสุดคือใช้มาตรการทางปกครองปลดออกจากราชการกันเลยก็มี

ผู้เขียนเองก็เช่นเดียวกับทหารคนอื่นๆ ที่ได้ท่องตัวอย่างการกระทำความผิดวินัย ๙ ข้อ ( ตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร มาตรา ๕ ) มาตั้งแต่เป็นนักเรียนทหาร ซึ่งข้อแรกในเก้าข้อนั้นคือ ความผิดฐานดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และได้ยินฐานความผิดนี้บ่อยมากในการใช้เป็นข้อกล่าวหาเพื่อลงโทษแก่กำลังพล ซึ่งมองในแง่บวกก็ถือเป็นบังคับใช้กฎหมายรักษาระเบียบวินัยของทหาร ในขณะเดียวกัน ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง บางครั้งก็ดูเหมือนว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวกลับกลายเป็นเครื่องมือในการเล่นงานกำลังพลอย่างไม่เป็นธรรม หากขาดความรู้ความเข้าใจในการนำมาใช้อย่างถูกต้อง

ดังนั้น บันทึกนายทหารพระธรรมนูญวันนี้จึงขอหยิบยกฐานความผิดนี้มาทำความเข้าใจกันในเบื้องต้

การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชานั้น อาจเป็นความผิดได้ทั้งทางวินัยและทางอาญา
ผิดทางวินัย คือ เป็นความผิดต่อแบบธรรมเนียม แนวทางปฏิบัติอันดีของทหาร ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจพิจารณาลงทัณฑ์ได้ห้าอย่าง คือ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กัก ขัง จำขัง ( ตาม พ.ร.บ.วินัยทหารฯ ซึ่งจะได้อธิบายในโอกาสต่อไป ) หรือถ้าลักษณะการกระทำและผลการกระทำเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรง ก็อาจถึงขั้นถูกใช้มาตรการทางปกครองด้วยการปลดออกจากราชการได้
ผิดทางอาญา คือ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ซึ่งต้องถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมทางทหาร และอาจถูกพิพากษาลงโทษทางอาญาทหาร คือ จำคุก

การขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่จะเป็นความผิดทางวินัย
ตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖ มาตรา ๕ บัญญัติว่า “ วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด
( วรรคสอง ) ตัวอย่างการกระทำความผิดวินัยทหารมีดังต่อไปนี้
( ) ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน.....”

จากบทบัญญัติที่ยกมา พฤติการณ์ที่จะเป็นการกระทำผิดวินัยทหารฐานดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน ตาม พ.ร.บ.วินัยทหารฯ มาตรา ๕ วรรคสอง () จะต้องประกอบด้วย
๑. ลักษณะการกระทำ
    - ดื้อ ขัดขืน คือ การไม่ปฏิบัติตาม ไม่ประพฤติตาม ด้วยการแสดงอาการแข็งกระด้าง
    - หลีกเลี่ยง คือ การไม่ประพฤติปฏิบัติตาม แต่มิได้แสดงออกในทางขัดขืนให้เห็น
    - ละเลย คือ ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติตามคำสั่งให้สำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม

๒. การกระทำตามข้อ ๑ กระทำต่อ “ คำสั่ง ” ซึ่งก็ต้องมาพิจารณากันว่า คำสั่งแบบใดที่หากมีการดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามแล้วจะเป็นความผิดวินัย
    ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งการและประชาสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ บัญญัติถึงคำสั่งทางวินัยทหาร มี ๒ ประเภท คือ คำสั่งทั่วไป คือคำสั่งที่สั่งให้กำลังพลที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนราชการ หรือหน่วยทราบและปฏิบัติโดยทั่วกัน เช่น และคำสั่งเฉพาะ คือคำสั่งที่สั่งให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะปฏิบัติ
   และคำสั่งนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้
   - เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อที่ ๓ ต่อไป
   - เป็นคำสั่งที่เป็นประโยชน์แก่ราชการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา
   - เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ
   - เป็นการสั่งการโดยทั่วไป มิได้เจาะจงแก่คนใดคนหนึ่ง ( ถ้าเจาะจงผู้ปฏิบัติจะเข้าลักษณะของคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญาทหารที่ฝ่าฝืนแล้วเป็นความผิดอาญา ทั้งนี้เป็นคนละลักษณะกับคำสั่งเฉพาะที่กล่าวมาก่อนหน้านี้  )
   - เป็นคำสั่งที่ใช้ได้ต่อเนื่องตลอดไป จนกว่าจะยกเลิก ( ถ้าเป็นคำสั่งที่เมื่อปฏิบัติตามแล้วสิ้นผลบังคับใช้ จะเข้าลักษณะคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ที่ฝ่าฝืนแล้วเป็นความผิดอาญา ดังที่จะอธิบายต่อไป  )

๓. คำสั่งนั้น ต้องเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งการ ( จะอธิบายในบทความเฉพาะเรื่องนี้ต่อไป )

หากครบองค์ประกอบข้างต้น ก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยฐานดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ซึ่งอาจทำให้ถูกพิจารณาลงทัณฑ์หรือใช้มาตรการทางปกครองดังที่กล่าวมาข้างต้น


บันทึกฉบับต่อไปจะกล่าวถึง การขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่จะเป็นความผิดทางอาญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น