16 ตุลาคม 2558

ความผิดอาญาทหาร ฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา


ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว เรื่อง “ ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา...ข้อหายอดฮิตของทหาร ”ที่กล่าวถึงการขัดคำสั่งผู้บัญชาในลักษณะที่เป็นความผิดทางวินัยไปแล้ว บันทึกนายทหารพระธรรมนูญวันนี้จะกล่าวถึงการขัดคำสั่งในลักษณะที่เป็นความผิดทางอาญาทหาร

ก่อนอื่นต้องรู้ความหมายของ “ คำสั่ง ” ในทางอาญาทหาร ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๔ ให้คำนิยามไว้ว่า “ คำสั่ง หมายถึง บรรดาข้อความที่ผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหารผู้ถืออำนาจอันสมควร เป็นผู้สั่งไปโดยสมควรแก่กาลสมัยและชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย คำสั่งเช่นนี้ท่านว่าเมื่อผู้รับคำสั่งนั้นได้กระทำตามแล้ว ก็เป็นอันหมดเขตของการที่สั่งนั้น ”

ดังนั้น คำสั่ง ในทางอาญาทหาร ที่หากฝ่าฝืนแล้วจะมีเป็นความผิดทางอาญา จะต้องมีลักษณะดังนี้
๑. เป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นสั่งการด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ และในบางสถานการณ์อาจรวมถึงการให้สัญญาณต่างๆที่สื่อความหมายให้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย
๒. เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งการ ( รายละเอียดเรื่องผู้บังคับบัญชาจะนำเสนอในโอกาสต่อไป )
๓. คำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ระเบียบปฏิบัติ ประเพณีนิยมตามสมัยนิยมหรือตามกาละเทศะ
๔. เมื่อผู้รับคำสั่งปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว ก็เป็นอันหมดเขตของการที่สั่งนั้น

พ.อ.ธานินทร์  ทุนทุสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองนิติธรรมทหาร กรมพระธรรมนูญ ได้อธิบายข้อแตกต่างระหว่างคำสั่งทางอาญาทหารกับคำสั่งทางวินัยทหารไว้ในตำรา “ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวินัยทหาร ” ของกรมพระธรรมนูญ ว่า ถ้าคำสั่งใดที่ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้สั่ง และคำสั่งนั้นมีลักษณะถ้าได้กระทำแล้วก็เป็นอันหมดเขตของการสั่งนั้น คือมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด เมื่อผู้ได้รับคำสั่งปฏิบัติตามคำสั่ง ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจที่ได้รับคำสั่ง นั้นแล้ว มิใช่คำสั่งที่มีลักษณะต้องปฏิบัติตลอดไป และเป็นคำสั่งที่มีลักษณะเจาะจง เช่น สั่งให้ใคร ทำอะไร หรือปฏิบัติอย่างไร เช่นนี้ถือเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร แต่ถ้าหากเป็นการสั่งการแก่ทหารทั่วไป มิได้มีลักษณะเฉพาะเจาะจงต่อทหารผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งยังเป็นคำสั่งที่ใช้ได้ตลอดไปโดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด ยกเว้นจะมีการยกเลิก เช่นนี้ถ้ามีการขัดขืนละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งลักษณะดังกล่าว ก็จะเป็นความผิดวินัยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖

ส่วนรองศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ  โชคเหมาะ อาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ตั้งข้อสังเกตลักษณะของ “ คำสั่ง ” ตามประมวลกฎหมายอาญาทหารไว้ในตำราวิชากฎหมายทหาร  ดังนี้
๑. คำสั่งของผู้บังคับบัญชาจะใช้ได้แต่เฉพาะผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนเท่านั้น จะไปใช้กับผู้อื่นซึ่งมิใช่เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาไม่ได้
๒. คำสั่งใดที่ขัดต่อองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่ถือว่าเป็นคำสั่งตามความหมายแห่งบทนิยามตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๔ ผู้ฝ่าฝืนย่อมไม่ต้อรับผิดฐานขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๓๐ หรือ ๓๑ แล้วแต่กรณี ( จะอธิบายต่อไป )

นอกจากนี้ ยังมีคำพิพากษาศาลทหารสูงสุดวางหลักไว้ว่า ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งห้ามมิให้กระทำการใดๆที่มีกฎหมายห้ามไว้อยู่แล้ว เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาฝ่าฝืนก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานขัดคำสั่ง เพราะถือว่าแม้จะมิได้มีคำสั่งนั้นก็ต้องงดเว้นตามกฎหมายอยู่แล้ว ( คำพิพากษาศาลทหารสูงสุดที่ ๑๑/๒๕๐๑ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งห้ามมิให้จำเลยยิงปืนในหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร แม้มิได้มีคำสั่งดังกล่าว จำเลยก็มีหน้าที่ต้องงดเว้นไม่ฝ่าฝืนในเรื่องนี้อยู่แล้ว เมื่อคำสั่งนี้ไม่ปรากฏว่าได้สั่งเพื่อประโยชน์ในราชการตามหน้าที่ของผู้สั่งแต่อย่างใด คำสั่งนี้จึงไม่เป็นคำสั่งตามความหมายของมาตรา ๔ แห่งประมวลกฎหมายอาญาทหาร เมื่อจำเลยขัดขืนไม่กระทำตามจึงไม่เป็นความผิด

สำหรับความผิดฐานขัดคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญาทหารนั้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐ ( ขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามคำสั่ง ) และมาตรา ๓๑ ( ขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่งอย่างองอาจ )

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๐
“ ผู้ใดเป็นทหาร และมันขัดขืนหรือละเลยมิกระทำตามคำสั่งอย่างใดๆ ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุ ดังจะว่าต่อไปนี้ คือ   
   ๑.   ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชศัตรู ท่านให้ลงอาญามันเป็นสามสถาน คือ สถานหนึ่งให้ประหารชีวิตเสีย สถานหนึ่งให้จำคุกจนตลอดชีวิต สถานหนึ่งให้จำคุดตั้งต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี
      ๒.   ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชศัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงครามหรือในเขตซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี
     ๓. ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าห้าปี ”
จากบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามคำสั่ง จะต้องมีองค์ประกอบ คือ
๑. ผู้กระทำเป็นทหาร
    มาตรา ๔ ของประมวลกฎหมายอาญาทหารให้คำนิยามว่าหมายถึงบุคคลที่อยู่ในอำนาจกฎหมายฝ่ายทหาร อันประกอบไปด้วย
   - ทหารกองประจำการ ( พลทหาร )
   - พลทหารประจำการ ( พลอาสาสมัคร )
   - นักเรียนทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ( นักเรียนนายสิบ นักเรียนนายสิบแผนที่ นักเรียนจ่า นักเรียนจ่าอากาศ นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ นักเรียนนายเรืออากาศ ) ที่ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้ว
  - ทหารประจำการ คือ ข้าราชการทหารสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งชั้นประทวนและสัญญาบัตร
๒. การกระทำ คือ ขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่ง หรือ ละเลยไม่กระทำตามคำสั่ง
     - ขัดขืน คือ การไม่ปฏิบัติตาม ไม่ประพฤติตาม ด้วยการแสดงอาการแข็งกระด้าง
     - ละเลย คือ ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติตามคำสั่งให้สำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม หากมีการละเลยก็ถือเป็นการกระทำผิดตามมาตรานี้แล้ว
๓. คำสั่งที่ถูกขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตาม จะต้องมีลักษณะตามที่ได้อธิบายมาแล้ว

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๑
“ ผู้ใดเป็นทหาร และมันขัดขืนหรือละเลยมิกระทำตามคำสั่งอย่างใดๆ โดยมันแสดงความขัดขืนด้วยกิริยาหรือวาจาองอาจต่อหน้าหมู่ทหารถืออาวุธด้วยไซร้ ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุ ดังจะว่าต่อไปนี้ คือ
   ๑.   ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชศัตรู ท่านให้ลงอาญามันเป็นสามสถาน คือ สถานหนึ่งให้ประหารชีวิตเสีย สถานหนึ่งให้จำคุกจนตลอดชีวิต สถานหนึ่งให้จำคุดตั้งแต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี
  ๒.    ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชศัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงครามหรือในเขตซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี
   ๓.    ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสิบปี ”

บทบัญญัตินี้เป็นบทฉกรรจ์ที่เพิ่มโทษจากการขัดคำสั่งในมาตรา ๓๐ เนื่องจากมีพฤติกรรมที่สมควรรับโทษหนักขึ้น คือ มีการแสดงอาการขัดขืนด้วยกิริยาวาจาองอาจ ซึ่งคำๆนี้ตามกฎหมายนี้หมายถึงการแสดงอาการอย่างบ้าบิ่น ก้าวร้าว ซึ่งเป็นกิริยาอาการที่ไม่ดี มิใช่หมายถึงความกล้าหาญ สง่างามตามความหมายทั่วไป และแสดงอาการนั้นต่อหน้าหมู่ทหารถืออาวุธ คือ ต่อหน้าทหารตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปซึ่งแต่ละคนถืออาวุธอยู่ด้วยถ้ามีองค์ประกอบสองข้อนี้เพิ่มขึ้นมาก็ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรานี้

ประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๓๑ นี้มีจุดประสงค์เพื่อต้องการรักษาระเบียบวินัยและความปลอดภัยในสถานการณ์ที่ต้องเข้มงวดและเคร่งครัดเป็นพิเศษ คือ สถานการณ์ที่มีการถืออาวุธเพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ หากมีผู้แสดงอาการขัดขืนในสถานการณ์ดังกล่าวย่อมอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้ายหรือความวุ่นวายขึ้น จึงจำต้องมีบทฉกรรจ์ตามมาตราดังกล่าว

อนึ่ง การขัดคำสั่งด้วยกิริยาอาการตามมาตรา ๓๑ นี้ต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาเท่านั้น ดังนั้น จึงมีเฉพาะพฤติกรรมการขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่งเท่านั้น ไม่รวมถึงการละเลยไม่กระทำตามคำสั่งซึ่งผู้กระทำอาจจะไม่มีเจตนาด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การกระทำตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ จะเป็นความผิดอาญาทหาร แต่ก็เป็นฐานความผิดที่อยู่ใน ๒๑ ฐานความผิดซึ่งผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารอาจพิจารณาให้ลงโทษทางวินัยแทนการดำเนินคดีทางอาญาก็ได้หากท่านเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ ของประมวลกฎหมายอาญาทหาร

แต่ไม่ว่าจะเป็นโทษทางวินัยหรือทางอาญาก็ล้วนเป็นมลทินติดตัวผู้ถูกลงโทษทั้งนั้น ดังนั้น ทางที่ดีก็คือรักษาเนื้อรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยไม่ต้องถูกลงโทษจะดีกว่า ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยอมหลับหูหลับตาปฏิบัติตามคำสั่งไปเสียทุกเรื่อง เพราะที่ผู้เขียนนำเสนอบทความเรื่องนี้ ก็เพื่อให้เป็นความรู้ความเข้าใจถึงองค์ประกอบของความผิด เพื่อที่จะได้สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นจำเลยไม่ว่าจะโดยชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น