21 ตุลาคม 2558

ยศสูงกว่า ไม่ได้หมายความว่าเป็น " ผู้บังคับบัญชา" เสมอไป


                   ผู้เขียนเคยดูละครไทยที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับทหาร  ซึ่งมีบทพูดของตัวละครที่เป็นทหารยศสูงกว่า มักจะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของตัวละครที่เป็นทหารยศน้อยกว่า เช่น ตัวละครเป็นทหารสัญญาบัตรชั้นยศนายพัน กล่าวข่มตัวละครที่เป็นพลทหารว่า “ กล้าลองดีกับผู้บังคับบัญชาเหรอ! ” ทั้งที่พิจารณาตามเนื้อเรื่องแล้ว  ตัวละครที่เป็นพลทหารนั้นไม่ได้อยู่ในสังกัดหรือภายใต้การบังคับบัญชาของตัวละครที่กล่าวนั้นเลย

                หรือแม้แต่ในชีวิตจริง ก็มีหลายครั้งที่ผู้เขียนได้ยินนายทหารผู้ใหญ่บางท่านเรียกตัวเองว่าเป็นผู้บังคับบัญชาทุกครั้งหรือเกือบทุกครั้ง ในการสนทนากับผู้มียศต่ำกว่า  ไม่ว่าคู่สนทนานั้นจะเป็นผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนจริงๆหรือไม่

                  หรือหากไม่เช่นนั้น ทหารชั้นผู้น้อยเองก็จะเรียกนายทหารที่มียศสูงกว่า ( โดยเฉพาะชั้นสัญญาบัตร ) ว่า “ หัวหน้า ” หรือ “ เจ้านาย ” ( ตัวผู้เขียนเองก็เคยเรียกนายทหารผู้ใหญ่ชั้นยศนายพันที่มิได้มีตำแหน่งผู้บังคับหน่วยว่า “ หัวหน้า ” มาตั้งแต่เป็นนายสิบ ) เสมือนว่าผู้เรียกนั้นเป็น “ลูกน้อง” หรือบริวารของผู้ถูกเรียก ทั้งที่จริงบางทีแทบจะไม่มีโอกาสได้เฉียดไปทำงานเกี่ยวข้องกันเลยด้วยซ้ำ

                สถานการณ์เหล่านี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจไปว่า นายทหารที่มียศสูงกว่าจะต้องถือเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้มียศต่ำกว่าเสมอ   ซึ่งไม่เป็นจริงในทุกกรณี เพราะการมียศสูงกว่า อาจเป็นได้ทั้ง “ผู้บังคับบัญชา” หรือเป็นเพียง “ ผู้ใหญ่” ที่มีอาวุโสสูงกว่าเท่านั้น

                สองคำนี้มีสถานภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งควรทำความเข้าใจและแยกแยะให้ถูกต้อง เพราะจะส่งผลถึงการปฏิบัติตนในระบบการปกครองบังคับบัญชา รวมถึงการดำเนินการทางวินัยหรือกฎหมายทหารด้วย เช่น การกระทำความผิดต่อผู้บังคับบัญชาและผู้ใหญ่ อัตราโทษที่จะได้รับจะแตกต่างกัน โดยการกระทำต่อผู้บังคับบัญชาจะมีโทษหนักกว่าการกระทำต่อผู้ใหญ่ซึ่งถ้าหากถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาเหมือนกันหมด ก็จะกลายเป็นว่าต้องรับโทษหนักทุกกรณี เท่ากับเพิ่มภาระกรรมให้ผู้กระทำโดยไม่สมควรแก่เหตุ

                ข้อแตกต่างระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใหญ่

                ผู้บังคับบัญชา คือ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลทุกข์สุขของทหาร ทั้งรับผิดชอบในความประพฤติ การฝึกสอน การอบรม การลงทัณฑ์ ตลอดจนการสั่งการแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และให้ความดีความชอบแก่ทหารได้ โดยแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ
                ๑. ผู้บังคับบัญชาโดยตรง คือ ผู้บังคับบัญชาที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดสำหรับดูแลทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งจะมีเพียงคนเดียว เช่น ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพลทหารที่สังกัดหมู่ปืนเล็ก ก็คือผู้บังคับหมู่ , ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของกำลังพลในกองร้อยก็คือผู้บังคับกองร้อย เป็นต้น
                ๒. ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น คือ ผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือขึ้นไปจากผู้บังคับบัญชาโดยตรง หรือเป็นเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาโดยตรงขึ้นไปอีก ซึ่งจะมีมากกว่าหนึ่งคน แล้วแต่ว่าสายการบังคับบัญชาที่เหนือขึ้นไปจะยาวแค่ไหน เช่น ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของพลทหารก็คือผู้บังคับหมวด ( ซึ่งอยู่เหนือผู้บังคับหมู่ที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ) ถัดขึ้นไปอีกก็เป็นผู้บังคับกองร้อย ผู้บังคับกองพัน เป็นต้น
                โดยปกติ ผู้บังคับบัญชาในหน่วยทหารปกติ ( หน่วยกำลังรบ ) ก็จะมีตำแหน่งหลักตายตัวอยู่แล้ว อย่างเช่นหน่วยทหารของกองทัพบกก็จะเริ่มตั้งแต่ผู้บังคับหมู่  ผู้บังคับหมวด   ผู้บังคับกองร้อย  ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม ผู้บัญชาการกองพล แม่ทัพ ไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
                ส่วนในหน่วยที่มิใช่หน่วยกำลังรบ เช่น กอง แผนก ศูนย์ กรม หรือหน่วยสายวิทยาการ ก็จะมีผู้บังคับบัญชาชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าแผนก ผู้บัญชาการศูนย์ เจ้ากรม ซึ่งถ้าจะเทียบตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหลักในหน่วยกำลังรบ ก็จะใช้วิธีการเทียบจากอัตราเงินเดือน เช่น ผู้อำนวยการกองที่รับเงินเดือนอัตราพันเอก ( ชั้นยศพันเอก ) ก็จะเทียบเท่าผู้บังคับการกรมซึ่งรับอัตราเงินเดือนและชั้นยศพันเอกเช่นกัน เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดจะไม่ขอกล่าวในบทความนี้

                สำหรับ “ ผู้ใหญ่ ” หรือบางที่เรียกว่า ผู้ใหญ่เหนือตน นั้น คือ ผู้ที่มียศสูงกว่า แต่ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาตามที่กล่าวมาข้างต้น ไม่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการปกครอง บังคับบัญชาหรือให้คุณให้โทษได้ตามระเบียบ เช่น อยู่คนละสังกัด หรือสังกัดเดียวกันแต่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นผู้บังคับบัญชาคนละฝ่ายที่แยกสายการบังคับบัญชาต่างหากจากกัน

                ถ้าจะเปรียบเทียบเป็นการลำดับญาติตามกฎหมาย
               ผู้บังคับบัญชาโดยตรง ก็เปรียบเหมือนบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีหน้าที่ปกครองดูแล รับผิดชอบชีวิตลูกโดยตรง หากเรากระทำผิดต่อท่านก็จะต้องรับโทษหนักกว่ากระทำต่อบุคคลอื่นทั่วไป

                 ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เปรียบเหมือนบุพการีที่เหนือขึ้นไป คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ฯลฯ

                “ ผู้ใหญ่ ” หรือ “ ผู้ใหญ่เหนือตน ” เปรียบเหมือนญาติผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นญาติห่างๆ เช่น ลุง ป้า น้า อา  ฯลฯ ที่ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบชีวิตของเรา แต่เป็นบุคคลที่เราควรต้องให้ความเคารพนับถือ และท่านสามารถว่ากล่าวตักเตือนเราได้


                ดังนั้น จึงคงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า “ ผู้บังคับบัญชาทุกคนเป็นผู้ใหญ่ แต่ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ทุกคนจะเป็นผู้บังคับบัญชาได้ ” ทั้งนี้ เพราะการจะเป็นผู้บังคับบัญชาได้นั้น จะต้องมีสิ่งที่รองรับให้เป็นได้ คือ ต้องอยู่ในตำแหน่งที่ระบุไว้ตามการจัดสายการบังคับบัญชา  หรือมีกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือแบบธรรมเนียมกำหนดไว้อย่างชัดเจน หรือมีการมอบอำนาจบังคับบัญชาจากผู้มีอำนาจฯ มิใช่ว่ามียศสูงกว่าแล้วจะถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้มียศต่ำกว่าทุกคนไป 

2 ความคิดเห็น:

  1. ผู้หญิง เป็นอัยการทหารได้มั้ยค่ะ ?

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ได้ครับ ไม่มีบทบัญญัติจำกัดว่าจะต้องอัยการทหารจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น แต่ต้องมีคุณสมบัติตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยอัยการทหารฯครับ

      ลบ