11 พฤศจิกายน 2558

( ทหาร )ทำผิดแล้วไปไหน?

                   หลายปีก่อน สมัยผู้เขียนเริ่มรับราชการเป็นนายสิบใหม่ มีรุ่นพี่นายสิบอาวุโสนายหนึ่งมักจะท่องกลอนบทหนึ่งที่แกเรียกว่าเป็น “บทกวีขี้เมา” ให้ฟังจนผู้เขียนจำได้แม่นยำ
                   “ คุกตะรางสร้างไว้อย่างแน่นหนา      
                      เพียงเพื่อขังหมูหมาก็หาไม่
                     ใช่เพียงขังคนชั่วโดยทั่วไป                     
                     คนธรรมดาก็ ( ถูก )ขังได้ ถ้า............”
                   ช่องว่างที่เว้นไว้ คือสาเหตุบางประการที่จะทำให้ทหารถูก “ สั่งขัง” ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี

                  บทกลอนดังกล่าวทำให้ผู้เขียนฉุกคิดขึ้นมาในตอนนั้นว่า คุกหรือห้องขัง ( ทางทหาร ) คือปลายทางอย่างเดียวสำหรับทหารที่กระทำผิด หรือถูกกระทำความผิดกระนั้นหรือ เพราะจากบทกลอนสะท้อนแนวคิดของนายสิบอาวุโสคนดังกล่าว ประกอบกับการได้เห็นเพื่อนร่วมงานบางคนถูก “สั่งขัง” เป็นว่าเล่น ก็เกือบจะทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆในตอนนั้น
                   จนกระทั่งผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษากฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายทหาร ทำให้ได้รับการไขข้อข้องใจว่า แท้จริงแล้ว ชะตากรรมของทหารที่กระทำผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้น มิใช่เพียงแต่จะถูกส่งไปนอนในพื้นที่ควบคุมของทหารตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีเส้นทางและกระบวนการดำเนินการโดยทางอื่นนอกเหนือจากการพิจารณาลงทัณฑ์โดยผู้บังคับบัญชาที่บางครั้งก็ไม่มีหลักประกันความเป็นธรรมเท่าที่ควร ซึ่งผู้เขียนได้ทำเป็นแผนผังเพื่อความเข้าใจตามที่แนบท้ายบทความนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทหารที่กระทำผิดจะถูกแยกดำเนินการตามลักษณะความผิด ๔ ประเภทหลักๆ ได้แก่

             ๑. กรณีทหารกระทำผิดวินัยทหาร
             ๒. กรณีทหารกระทำผิดอาญา ซึ่งแยกย่อยออกเป็น กระทำผิดอาญาทหาร และกระทำผิดอาญาตามกฎหมายบ้านเมือง
              ๓. กรณีทหารกระทำผิดทางแพ่ง
            ๔. กรณีทหารกระทำผิดตามกฎหมายปกครอง ( กระทำผิดในฐานะเจ้าพนักงาน )

                   กรณีแรก เมื่อทหารกระทำผิดวินัยทหาร
                เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมากที่สุดทหาร อาจเรียกได้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ทหารคนใดจะไม่เคยกระทำผิดวินัยทหาร เพราะวินัยทหารเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับทหารในฐานะที่เป็นเสมือนเครื่องมือควบคุมให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยอันเป็นอัตตลักษณ์ประการหนึ่งของสังคมทหาร เฉกเช่นเดียวกับหลักศีลธรรมทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่กำหนดขึ้นเพื่อกำกับดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมพลเรือน
                   การกระทำผิดวินัยทหารก็เช่นเดียวกับการทำผิดหลักศีลธรรมหรือขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม  ที่มีตั้งแต่ความผิดเล็กๆน้อยๆซึ่งผู้กระทำผิดอาจเพียงได้รับการตักเตือนหรือคาดโทษ เพื่อมิให้กระทำการเช่นนั้นอีก  ไปจนถึงความผิดบางประการที่หนักหนาสาหัสต้องลงโทษสถานหนักเพื่อให้เข็ดหลาบและมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่กำลังพลอื่นๆ รวมไปถึงการกระทำความผิดอาญาทหารบางประการที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ก็อาจจะพิจารณาให้ถือเป็นความผิดวินัย และดำเนินการทางวินัยแทนการดำเนินคดีในศาลได้ ( ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๘ )
                   การดำเนินการต่อทหารที่กระทำผิดวินัย จะไปตามดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา ประกอบหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖ ที่กำหนดแนวทางทั่วไปโดยกว้างๆในการพิจารณาเพื่อดำเนินการ เช่น ลักษณะการกระทำที่อาจถือเป็นความผิดวินัย       ขอบเขตอำนาจและวิธีการลงทัณฑ์สำหรับผู้กระทำผิด แนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
                   กระบวนการดำเนินการจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการกระทำความผิด  ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้นได้กระทำผิดจริง อันจะเป็นการป้องกันมิให้มีการลงทัณฑ์โดยไม่เป็นธรรมหรือลงทัณฑ์แก่ผู้ที่ไม่มีความผิดชัดเจน ( พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯมาตรา ๑๓ ) โดยปกติจะใช้วิธีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด ซึ่งสามารถใช้สำนวนการสอบสวนเป็นหลักฐานในการดำเนินการได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มิได้มีบทบังคับว่าทุกครั้งจะต้องมีการสอบสวนก่อนเท่านั้นจึงจะสามารถลงทัณฑ์ได้ ในกรณีที่มีหลักฐานอื่นๆที่แสดงให้เห็นว่าปรากฎความผิดชัดเจน ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องมีการสอบสวน
                   เมื่อได้ผลการพิจารณาถ้วนถี่แล้วว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดจริง ก็จะได้รับผลแห่งการกระทำใน ๒ ลักษณะ ( อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง ) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯมาตรา ๗ คือ
                   ประการแรก ถูกพิจารณาลงทัณฑ์โดยผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจพิจารณาลงทัณฑ์ในชั้นต่างๆ ตามที่ระบุไว้ตามมาตรา ๑๐ , ๑๑  แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ        โดยรูปแบบการลงทัณฑ์จะกระทำได้ ๕ ลักษณะ  ( พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯมาตรา ๘ , ๙ ) ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ( คาดโทษ,ทำทัณฑ์บน ) ทัณฑกรรม ( ให้ทำงานอื่นๆเพิ่มเติมจากหน้าที่ประจำ ) กัก ( จำกัดบริเวณให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด )  ขัง ( ควบคุมตัวในห้องขังทหารหรือพื้นที่ที่กำหนด ) และจำขัง ( ฝากขังในเรือนจำทหาร ) โดยมีขอบเขตการลงทัณฑ์ของผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ในแต่ละระดับชั้นตามตารางกำหนดอำนาจการลงทัณฑ์ท้าย พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ ถ้าหากมีการลงทัณฑ์เกินขอบเขตอำนาจ หรือกระทำในรูปแบบอื่นๆนอกเหนือจาก ๕ ลักษณะที่กำหนด เช่น มีการลงมือทำร้ายร่างกาย แกล้งประจานให้ได้รับความอับอายหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ถือว่าเป็นการลงทัณฑ์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ
                   ประการที่สอง การดำเนินการทางปกครอง ด้วยการปลดออกกจากประจำการ หรือถูกถอดจากยศทหาร
                   - การปลดออกจากประจำการ ใช้ในกรณีผู้กระทำความผิดหรือมีลักษณะตามที่ระบุในคำสั่ง ทบ.ที่ ๑๗๖/๒๕๐๘ ลง ๑๐ มิ.ย.๒๕๐๘ เรื่อง การหมุนเวียนกำลังพล ซึ่งข้อ ๑ ของคำสั่งดังกล่าวระบุพฤติการณ์ ๑๑ ประการของข้าราชการที่หากกระทำจะต้องถูกปลดออกจากราชการทันที เช่น ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ( เป็นความผิดวินัยอย่างหนึ่ง ) จนเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการเป็นอันมาก ประมาทเลินเล่อในหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการเป็นอันมาก , ขาด – หนีราชการ เป็นต้น
                   -  การถอดยศทหาร ใช้สำหรับผู้ที่มีพฤติการณ์หรือลักษณะตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ.๒๕๐๗  ซึ่งมีหลายประการที่เป็นลักษณะเดียวกับพฤติการณ์ที่จะต้องปลดออกจากราชการทันทีตามคำสั่ง ทบ.ที่ ๑๗๖/๒๕๐๘ ซึ่งกล่าวไว้ข้างต้น เช่น ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หนีราชการทหารในเวลาประจำการ ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นต้น ดังนั้น ผู้กระทำผิดวินัยถึงขั้นถูกปลดจากราชการแล้วก็มักจะถูกถอดยศทหารด้วย เว้นเสียแต่ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมที่กล่าวถึงจะมิได้บัญญัติไว้ว่าต้องถอดยศด้วย 
                   นอกจากนี้ผู้กระทำผิดวินัยยังอาจถูกดำเนินการโดยมาตรการทางปกครองอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การสั่งพักราชการ ( ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ.๒๕๐๘ ) การตัดหรืองดจ่ายเงินเดือน ( ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการตัด งด และจ่ายเงินเดือน พ.ศ.๒๕๐๔ ) เป็นต้น

                   กรณีที่สอง เมื่อทหารกระทำความผิดอาญา
                   การกระทำความผิดอาญา หมายถึง การกระทำผิดกฎหมายที่บัญญัติบทลงโทษทางอาญา เช่น โทษจำคุก โทษปรับ โทษประหารชีวิต ซึ่งสำหรับทหารแล้ว มีกฎหมายอาญาที่บังคับใช้อยู่สองประเภท คือ กฎหมายอาญาทหาร และกฎหมายอาญาทั่วไป ซึ่งหากทหารกระทำความผิดในแต่ละกลุ่มแล้วจะมีรายละเอียดกระบวนการดำเนินการที่แตกต่างกันไป ดังนี้
                   ๑. การกระทำความผิดอาญาทหาร ตามฐานความผิดต่างๆที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๑๓ – ๕๐ และมาตรา ๕๒  ๕๒ ผู้กระทำผิด ( ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตาม พ.ร.บ.ศาลทหาร มาตรา ๑๖ ) ต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร โดยเริ่มจากการสอบสวนโดยผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทหาร ได้แก่ อัยการทหาร นายทหารพระธรรมนูญ  นายทหารสัญญาบัตรที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสอบสวน หรือพนักงานสอบสวน ( ตำรวจ ) ก่อนจะรวบรวมสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการทหารเป็นผู้พิจารณายื่นฟ้องคดีต่อศาล จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งจะพิจารณาตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับซึ่งออกตามกฎหมายฝ่ายทหาร หากไม่มีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับทางทหารที่จะปรับใช้ได้ ก็จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ( กฎหมายพลเรือน ) มาปรับใช้โดยอนุโลม เพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษต่อไป   ซึ่งโทษทางอาญาทหารตามประมวลกฎหมายอาญาทหารนั้น โดยหลักๆแล้วจะมีเพียงโทษจำคุกกับโทษประหารชีวิตเท่านั้น
                   ๒. การกระทำความผิดอาญาตามกฎหมายบ้านเมือง อันได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นๆที่มีโทษทางอาญา เช่น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ , พ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญาอื่นๆ ทหารที่กระทำความผิดกฎหมายดังกล่าวจะถูกดำเนินคดีในสองลักษณะ ขึ้นอยู่กับผู้ร่วมกระทำความผิด อันได้แก่
                       ๒.๑ หากทหารกระทำผิดเพียงลำพัง หรือร่วมกระทำความผิดกับทหารด้วยกัน หรือกับบุคคลอื่นๆซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ( ตาม พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๑๖ ) เช่น นักเรียนทหาร,  พลเรือนในสังกัดหน่วยงานทหาร ( เช่น ลูกจ้าง ) ที่กระทำผิดในหน้าที่ราชการทหารหรือทำผิดในพื้นที่ทหาร ,ผู้ที่ต้องขังหรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเชลยศึก ซึ่งเท่ากับว่าผู้กระทำผิดทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลในอำนาจศาลทหาร จึงต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามที่กล่าวไว้ในข้อ ๑  ( แม้ว่าความผิดที่กระทำจะมิใช่ความผิดทางทหารก็ตาม ) เป็นการพิจารณาโดยยึดหลักเกณฑ์ที่ตัวบุคคลผู้กระทำผิด
                       ๒.๒  หากมีผู้ร่วมกระทำความผิดแม้เพียงคนใดคนหนึ่งที่เป็นพลเรือนซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร โดยมิใช่ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลและความผิดที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะว่าผู้กระทำต้องขึ้นศาลทหารเท่านั้น ( เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๗ – ๓๘/๒๕๕๗ , ฉบับที่ ๔๓/๒๕๕๗ ,ฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ )  หรือหากเป็นความผิดที่กระทำนั้นเกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน คดีเหล่านี้จะถือว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ผู้กระทำความผิดจะต้องถูกส่งไปดำเนินคดีในศาลพลเรือน( ศาลยุติธรรม ) เท่านั้น ( ตาม พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๑๔ ( ) ( ) และมาตรา ๑๕ วรรคแรก ) โดยเริ่มกระบวนการจากการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน ( กรณีมีผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้กระทำความผิดถูกจับกุมตัว )        เพื่อรวบรวมสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณา  หรือผู้เสียหายอาจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรง จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จนมีคำพิพากษาที่ทำให้คดีถึงที่สุด       ซึ่งอาจถูกลงโทษทางอาญาใน ๕ สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ( ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ )
                   หากมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือหนักกว่าจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาของศาลทหารหรือศาลยุติธรรม ก็จะเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องถูกปลดจากราชการ     ตามคำสั่ง ทบ.ที่ ๑๗๖/๒๕๐๘ ลง ๑๐ มิ.ย.๒๕๐๘ ข้อ ๑.๒ และต้องถูกถอดจากยศทหาร ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ฯ ข้อ ๒.๒  

                   กรณีที่สาม เมื่อทหารกระทำผิดทางแพ่ง
                   การกระทำผิดทางแพ่ง คือ การกระทำผิดตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชน บุคคลทั่วไป อันได้แก่ การทำนิติกรรมสัญญารูปแบบต่างๆเช่น ซื้อขาย กู้ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ เป็นต้น , การทำละเมิดที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน , คดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือมรดก , คดีหนี้สินต่างๆ  ดังนี้เป็นต้น   ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางแพ่งจะต้องถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีในศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาให้บังคับคดีตามฟ้องของโจทก์ เช่น ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้ชำระหนี้ ให้กระทำการหรืองดเว้นการกระทำการต่างๆที่มีผลกระทบต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย
                   เมื่อทหารกระทำผิดทางแพ่ง เช่น เป็นหนี้แล้วไม่ชำระ กระทำละเมิดต่อผู้อื่นและถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ถูกภรรยาน้อยฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดู ฯลฯ หากผู้เสียหายฟ้องร้องและไม่สามารถไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความกันได้ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยศาลยุติธรรมเพียงอย่างเดียว เพราะไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร ( ศาลทหารพิจารณาเฉพาะคดีอาญา )
                   กระบวนการพิจารณาคดีแพ่งของศาลยุติธรรม จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตั้งแต่มีการยื่นฟ้องจนกระทั่งมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งผู้กระทำผิดที่เป็นจำเลยในคดีอาจต้องรับโทษทางแพ่ง ซึ่งปกติก็คือการชำระหนี้ ชำระค่าเสียหาย หรือบังคับคดีตามฟ้องโจทก์ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งแม้โทษจะไม่หนักเท่ากับคดีอาญา แต่ในบางคดีก็อาจส่งผลถึงสถานภาพหรือหน้าที่ราชการได้ เช่น ต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดทางแพ่งที่เข้าข่ายการประพฤติชั่วร้ายแรง  ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นคนล้มละลายเพราะทำหนี้สินขึ้น หรือต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่เป็นอันมาก ก็เข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูกปลดออกจากราชการได้ และถ้าหากตกเป็นบุคคลล้มละลายเพราะทำหนี้สินขึ้นด้วยความทุจริตหรือเข้าข่ายประพฤติชั่วร้ายแรงก็ต้องถูกถอดจากยศทหาร ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ฯ


                   กรณีที่สี่ เมื่อทหารกระทำผิดตามกฎหมายปกครอง
                   กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายมหาชนประเภทหนึ่ง ที่บัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน รวมถึงกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้อำนาจกับฝ่ายเอกชน ซึ่งตัวบทกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่      พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ , พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
                   ทหารและหน่วยงานทหารล้วนมีโอกาสตกเป็นผู้กระทำความตามกฎหมายปกครอง หรือที่เรียกว่า “ คดีปกครอง” ได้  เนื่องจากหน่วยทหารทุกระดับที่เป็นส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม ถือเป็น “หน่วยงานทางปกครอง” ตามความหมายของกฎหมายปกครอง และข้าราชการทหารในหน่วยทหารก็อาจเป็น “เจ้าหน้าที่ทางปกครอง ” ซึ่งซึ่งมีอำนาจในการ “ กระทำการทางปกครอง ” เช่น ออกคำสั่งทางปกครอง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรืออาจทำสัญญากับเอกชนในลักษณะที่เป็น “สัญญาทางปกครอง” ซึ่งหากปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ ก่อให้เกิดผลกระทบ ละเมิด หรือเกิดความเสียหายต่อคู่กรณี ก็อาจถูกฟ้องร้องเป็นคดีปกครองและถูกดำเนินคดีในศาลปกครอง
                   ยกตัวอย่าง  เช่น ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจออกคำสั่งเลื่อนชั้นเงินเดือน เลื่อนยศ คำสั่งปลด หรือคำสั่งปรับย้ายกำลังพลโดยมิชอบ ,   ข้าราชการทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวกระทำละเมิดต่อประชาชน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ( ซึ่งเป็นทั้งความผิดอาญาและอาจถูกดำเนินคดีปกครองด้วย ) ดังนี้เป็นต้น
                   เมื่อทหารหรือหน่วยทหารถูกฟ้องคดีปกครองโดยผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดี ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีโดยศาลปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีก็มีหน้าที่ยื่นคำให้การหรือพยานหลักฐานเพื่อแก้คดีเช่นเดียวกับจำเลยในศาลยุติธรรม โดยศาลจะพิจารณาโดยระบบไต่สวน คือ สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนอกเหนือจากพยานหลักฐานที่คู่กรณียื่นต่อศาลได้  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคู่กรณีมากที่สุด ก่อนจะมีคำพิพากษา โดยอาจสั่งให้เพิกถอนกฎ ระเบียบ คำสั่งตามถูกฟ้องว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติใดๆเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย แล้วแต่กรณี
                   โดยในการบังคับคดีปกครองนั้น ปกติแล้วเมื่อเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำผิดในทางปกครอง หลักกฎหมายปกครองบัญญัติให้ฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่นั้นๆ หน่วยงานจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วค่อยไปไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดภายหลัง
                   รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการตามกฎหมายปกครองที่เกี่ยวกับทหารมีมากพอสมควร เกินกว่าที่จะนำมาอธิบายได้หมดในบทความนี้ ผู้เขียนจึงเพียงแต่สรุปภาพรวมในมุมกว้าง ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมพระธรรมนูญ สำนักงานพระธรรมนูญเหล่าทัพต่างๆ ศาลปกครอง และหนังสือที่น่าสนใจ เช่น คู่มือผู้บังคับหน่วยและฝ่ายอำนวยการทางทหารกับศาลปกครอง เขียนโดย  พล.ท.ทวี  แจ่มจำรัส เป็นต้น และหากมีโอกาส ผู้เขียนจะได้นำเสนอเรื่องนี้โดยเฉพาะต่อไป
                  
                   อย่างไรก็ตาม ผลแห่งการดำเนินการเมื่อทหารตกเป็นผู้กระทำผิดใน ๔ กรณีที่กล่าวมา ทหารผู้นั้นอาจได้รับผลแห่งการกระทำคือบทลงโทษตามผลการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาหรือโดยคำพิพากษาของศาล หรืออีกมุมหนึ่งก็อาจจะไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆในกรณีผลแห่งการพิจารณาไม่สามารถเอาผิดกับผู้นั้นได้  เช่น พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิด ได้รับการปรานีผ่อนผัน หรือกรณีอื่นๆ
                   แต่ไม่ว่าจะอย่างไร หากกระทำผิดจริงแล้ว โดยเฉพาะถ้ากระทำผิดโดยเจตนา แม้ว่าอาจจะรอดพ้นจากเงื้อมมือกฎหมาย แต่ผู้เขียนเชื่อว่าสุดท้ายก็หนีไม่พ้นกฎแห่งกรรม ที่ผู้ใดทำอะไรไว้ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำของตน ดังที่มีคำกล่าวว่า “ บางครั้งกฎหมายอาจมีช่องโหว่ แต่กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ !!


4 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีค่ะขอรบกวนปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับการเกณท์ทหารหน่อยได้ไหมค่

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณ​สำหรับบทความ

    ตอบลบ
  3. โทษ​ของพลทหารคดีพากผู้เยาว์​ละค่ะได้รับโทษ​อย่างไรค่ะทั้งที่ยินยอมทั้งคู่

    ตอบลบ