28 พฤศจิกายน 2558

ทบทวนความจำ --ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๔ หลักทั่วไปในการพิจารณาความของศาลทหาร การควบคุม การสอบสวน

             
                 ๑. การพิจารณาความในศาลทหารนั้น จะนำเอากฎ ข้อบังคับ ที่ออกตามกฎหมายฝ่ายทหารมาใช้ในการพิจารณา หากไม่มีกฎ ข้อบังคับเช่นว่านั้นที่จะนำมาใช้ได้ ก็จะนำเอาบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ( กฎหมายพลเรือน ) มาปรับใช้โดยอนุโลม ถ้าไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะปรับใช้ได้ ก็จะนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาปรับใช้ เท่าที่จะใช้ได้
                   ๒. การควบคุมผู้ต้องหาในกรณีพิเศษ ( มาตรา ๔๖ ) ที่แก้ไขเพิ่มตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร ( ฉบับที่ ๘ ) พ.ศ.๒๕๕๘
                       ๒.๑ คำว่า “กรณีพิเศษ” คือ เมื่อมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นๆที่ทำให้ไม่อาจร้องขอให้ศาลสั่งขังผู้ต้องหาในคดีนั้นๆได้
                       ๒.๒ ผู้ต้องหาที่จะถูกควบคุมในกรณีพิเศษตามมาตรานี้ คือ บุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งกระทำความผิดอาญา ไม่ว่าคดีอาญานั้นจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารหรือไม่ก็ตาม
                       ๒.๓ ผู้ที่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาในกรณีพิเศษตามมาตรานี้ คือ
                             ๒.๓.๑ ผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหา ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการกองพลขึ้นไป
                             ๒.๓.๒ ผู้บังคับบัญชาที่มีอาวุโสสูงสุดในพื้นที่ ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒.๓.๑ หรือผู้ต้องหาอยู่ต่างถิ่นกับผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒.๓.๑
                       ๒.๔ กรอบระยะเวลาการควบคุมตัวผู้ต้องหาในกรณีพิเศษตามมาตรานี้
                             ๒.๔.๑ ในความผิดลหุโทษ สามารถควบคุมตัวได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ
                             ๒.๔.๒ ในความผิดที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ควบคุมได้ไม่เกิน ๗ วัน
                             ๒.๔.๓ ในความผิดที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกเกิน ๖ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๐ ปี  ปรับเกิน ๕๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ควบคุมได้ไม่เกิน ๔๘ วัน
                             ๒.๔.๔ ในความผิดที่มีอัตราโทษอย่างจำคุกตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ควบคุมได้ไม่เกิน ๘๔ วัน
                       ๒.๕ การควบคุมผู้ต้องหาในกรณีพิเศษตามมาตรานี้ ถือเป็นการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                   ๓. การสอบสวน
                       ๓.๑ ผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ประกอบด้วย
                             ๓.๑.๑ นายทหารพระธรรมนูญ
                             ๓..๑.๒ อัยการทหาร มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ผู้มีหน้าที่สอบสวน ทำการสอบสวนเพิ่มเติม 
                             ๓.๑.๓ นายทหารสัญญาบัตรของหน่วย มีอำนาจหน้าที่สอบสวนตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
                             ๓.๑.๔ พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                       ๓.๒ การสอบสวนของบุคคลตามข้อ ๓.๑ ถือเป็นการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น