27 พฤศจิกายน 2558

ทบทวนความทรงจำ -- ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๓ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับศาลทหาร

             

               ๑. บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร  พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ มี ๘ ประเภท คือ
                       ๑.๑ นายทหารสัญญาบัตรประจำการ
                       ๑.๒ นายทหารสัญญาบัตรนอกประจำการ เฉพาะความผิดต่อคำสั่ง ข้อบังคับ ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
                       ๑.๓ นายทหารประทวน ทหารกองประจำการ   บุคคลที่รับราชการทหารตามกฎหมายรับราชการทหาร
                       ๑.๔ นักเรียนทหาร ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ( เช่น นนร. , นนส. , นจอ. เป็นต้น)
                       ๑.๕ ทหารกองเกินที่ถูกเรียกเข้ากองประจำการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับตัวไว้แล้ว
                       ๑.๖ พลเรือนที่อยู่ในสังกัดราชการทหาร ( เช่น ลูกจ้าง ) เฉพาะความผิดในหน้าที่ราชการ และความผิดที่กระทำในอาคารที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน ที่พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
                       ๑.๗ บุคคลที่ต้องขัง หรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย
                       ๑.๘ เชลยศึก ชนชาติศัตรู ที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
                   ๒. ตุลาการศาลทหาร ( ผู้พิจารณา พิพากษาคดีในศาลทหาร )
                       ๒.๑ ตุลาการศาลทหาร แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
                             ๒.๑.๑ ตุลาการพระธรรมนูญ จะมีประจำอยู่ทุกศาล โดยมีจำนวนและชั้นยศแตกต่างกันไปในแต่ละศาล ( ดังที่จะกล่าวต่อไป )    คุณสมบัติทั่วไปตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยตุลาการพระธรรมนูญ คือ เป็นนายทหารสัญญาบัตรอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตหรือเทียบเท่า เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา    รับราชการหรือปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ด้านกฎหมายมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปี หรือเคยเป็นตุลาการศาลทหารมาก่อน    และมีความประพฤติเหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ตุลาการพระธรรมนูญ
                             ๒.๑.๒ ตุลาการที่ไม่ใช่ตุลาการพระธรรมนูญ ( หรือเรียกว่าตุลาการร่วม ) คือตุลาการที่เป็นนายทหารสัญญาบัตรที่จะร่วมพิจารณาในองค์คณะตุลาการ โดยต้องมียศไม่ต่ำกว่ายศของจำเลยที่มียศสูงสุดในขณะฟ้อง ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๓๒ )
                             ๒.๑.๓ ตุลาการสำรอง คือ ตุลาการที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งฯ ให้เป็นตุลาการสำรอง จะปฏิบัติหน้าที่เมื่อตุลาการตัวจริงไม่สามารถนั่งพิจารณาครบองค์คณะ ตุลาการสำรองก็จะนั่งเป็นตุลาการเพื่อให้ครบองค์คณะโดยมีอำนาจหน้าที่เหมือนตุลาการตัวจริง ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๓๔ )
                       ๒.๒ การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลทหาร จะมี ๒ ลักษณะ คือ
                             ๒.๒.๑ ตุลาการนายเดียว มีอำนาจหน้าที่ในการออกหมายเรียก หมายอาญา หมายสั่งให้ส่งคนมาจากจังหวัดอื่น หรือส่งไปยังจังหวัดอื่น , อำนาจออกคำสั่งที่มิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี และถ้าตุลาการนายเดียวนั้นเป็นตุลาการพระธรรมนูญ มีอำนาจไต่สวนหรือสืบพยานได้ 
                             ๒.๒.๒ องค์คณะตุลาการ คือ ตุลาการที่จะร่วมกันพิจารณาพิพากษาคดีในศาลทหาร ซึ่งมีจำนวน ชั้นยศ และการแต่งตั้ง ดังนี้
                                      ๒.๒.๒.๑ ในศาลจังหวัดทหาร ในอดีต ผบ.จทบ.จะเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการศาลจังหวัดทหาร ๓ นาย ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ ๑ นาย  ( ชั้นยศ ร.ต.ขึ้นไป ) และนายทหารสัญญาบัตร ๒ นาย ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๒๖ ) แต่ปัจจุบันได้มีการแบ่งเขตอำนาจใหม่ ตาม พ.ร.ก.กำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหาร ทำให้อำนาจพิจารณาคดีอยู่ในอำนาจของศาลมณฑลทหารทั้งหมดแล้ว
                                      ๒.๒.๒.๒ ศาลมณฑลทหาร, ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจำหน่วยทหาร มีตุลาการ ๓ นาย ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ ๑ นาย ( ชั้นยศ ร.ต.ขึ้นไป ) และนายทหารสัญญาบัตร ๒ นาย ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๒๗ ) โดยมีผู้แต่งตั้ง ดังนี้
                                                ๒.๒.๒.๒.๑ ผบ.มทบ. มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลมณฑลทหาร
                                                ๒.๒.๒.๒.๒ รมว.กห.มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหารกรุงเทพ
                                                ๒.๒.๒.๒.๓ ผบ.หน่วยทหาร มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลประจำหน่วยทหาร
                                      ๒.๒.๒.๓ ศาลทหารกลาง มีตุลาการ ๕ นาย       ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ ๒ นาย ( ชั้นยศ พ.ต. , น.ต. , พ.อ.ต. ขึ้นไป ) ,     นายทหารสัญญาบัตรชั้นยศนายพัน ๑ หรือ ๒ นาย และนายทหารสัญญาบัตรชั้นยศนายพล ๑ หรือ ๒ นาย โดย รมว.กห.จะกราบบังคมทูลถวายรายชื่อ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตุลาการดังกล่าว
                                      ๒.๒.๒.๔ ศาลทหารสูงสุด มีตุลาการ ๕ นาย      ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ ๓ นาย ( ชั้นยศ พันเอกพิเศษ หรือนายพลขึ้นไป  ) นายทหารสัญญาบัตรชั้นยศนายพล ๒ นาย โดย รมว.กห.จะกราบบังคมทูลถวายรายชื่อ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตุลาการดังกล่าว


                   ๓. บุคคลการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับศาลทหาร ได้แก่ อัยการทหาร จ่าศาลทหาร และนายทหารพระธรรมนูญ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยอัยการทหารฯ , ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยจ่าศาลฯ และ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยนายทหารพระธรรมนูญฯ       และผู้เขียนจะได้นำเสนอรายละเอียดในโอกาสต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น