26 พฤศจิกายน 2558

ทบทวนความจำ -- ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๒ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติและศาลอาญาศึก

                   ต่อจากบทความที่แล้ว " ทบทวนความทรงจำ - ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๑ ภาพรวมศาลทหาร " วันนี้เรามาทบทวนความจำและ/หรือทำความรู้จักกับศาลทหารในเวลาไม่ปกติและศาลอาญาศึกกันครับ   
              
             ๑. เมื่ออยู่ในเวลาไม่ปกติ คือ มีการรบ ประกาศสงคราม หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก      ศาลทหารในเวลาปกติก็ยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้เหมือนเดิม  แต่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก        หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีอำนาจที่จะสั่งการให้ศาลทหารในเวลาปกติ เป็น “ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ” ได้
                   ๒. ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
                       ๒.๑ มีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีเช่นเดียวกับศาลทหารในเวลาปกติ และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ เช่น คดีเกี่ยวกับความมั่นคง คดีพิเศษอื่นๆ ที่ผู้มีอำนาจฯประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
                       ๒.๒ ให้นำบทบัญญัติที่ใช้กับศาลทหารในเวลาปกติ มาปรับใช้กับศาลทหารในเวลาไม่ปกติโดยอนุโลม ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๓๘ )
                       ๒.๓ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหาร สามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาพลเรือนเป็นตุลาการในศาลทหาร และสามารถแต่งตั้งพนักงานอัยการ   จ่าศาลพลเรือน ทำหน้าที่อัยการทหารและจ่าศาลทหารได้ ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๓๗ ) เรียกว่าเป็นการให้ศาลพลเรือนทำหน้าที่ดังศาลทหาร
                       ๒.๔ เมื่อหมดภาวะเวลาไม่ปกติแล้ว ถ้ามีคดีที่พิจารณาค้างอยู่ในศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ศาลฯก็สามารถพิจารณาพิพากษาคดีนั้นให้เสร็จสิ้นต่อไป หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการทหารหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจสั่งให้โอนคดีหรือส่งตัวผู้ต้องหาไปให้ศาลทหารแห่งอื่นได้ โดยศาลทหารที่รับโอนคดีหรือรับตัวผู้ต้องหานั้น จะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
                   ๓. ศาลอาญาศึก
                       ๓.๑ จัดตั้งขึ้นสำหรับหน่วยทหาร เรือรบ ซึ่งอยู่ในยุทธบริเวณ   มีตุลาการศาลเป็นนายทหารสัญญาบัตร ๓ นาย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผู้บังคับบัญชาสูงสุด ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังทหารไม่ต่ำกว่า ๑ กองพัน หรือแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการเรือ ป้อม หรือที่มั่นอย่างใดๆในพื้นที่นั้น
                       ๓.๒ ศาลอาญาศึก มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง ซึ่งกระทำผิดในเขตอำนาจ ( คือในพื้นที่ยุทธบริเวณที่จัดตั้งศาลอาญาศึกนั้น ) โดยไม่จำกัดบทกฎหมายและตัวบุคคล
                        ๓.๓ เมื่อหมดภาวะเวลาไม่ปกติแล้ว ถ้ามีคดีที่พิจารณาค้างอยู่ในศาลอาญาศึก ศาลฯก็สามารถพิจารณาพิพากษาคดีนั้นให้เสร็จสิ้นต่อไม่ หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการทหารหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจสั่งให้โอนคดีหรือส่งตัวผู้ต้องหาไปให้ศาลทหารแห่งอื่นได้ โดยศาลทหารที่รับโอนคดีหรือรับตัวผู้ต้องหานั้น จะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับศาลอาญาศึก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น