29 พฤศจิกายน 2558

ทบทวนความจำ - ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๕ การฟ้องคดีและการพิจารณาคดีในศาลทหาร



                    ๑. การฟ้องคดีต่อศาลทหาร
                       ๑.๑ ผู้มีอำนาจฟ้องคดี ได้แก่
                             ๑.๑.๑ ผู้เสียหาย คือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร จึงจะมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ถ้าผู้เสียหายเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร หรืออยู่ในอำนาจศาลทหารแต่ต้องฟ้องคดีต่อศาลทหารเวลาไม่ปกติ ต้องมอบคดีให้อัยการทหารทหารเป็นผู้ฟ้อง
                             ๑.๑.๒ อัยการทหาร
                             ๑.๑.๓ ผู้เสียหายและอัยการทหาร ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหารในเวลาปกติ
                       ๑.๒ การดำเนินการในการฟ้อง
                             ๑.๒.๑ ถ้าอัยการทหารพิจารณาเห็นว่า คดีที่จะฟ้องนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร สามารถส่งคดีไปให้พนักงานอัยการ ( อัยการพลเรือน ) ดำเนินคดีในศาลยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปได้ โดยเมื่อพนักงานอัยการรับคดีไปแล้ว จะส่งย้อนกลับมาให้อัยการทหารไม่ได้
                             ๑.๒.๒ การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
                                      ๑.๒.๒.๑ ผู้เสียหายที่ฟ้องคดี ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ศาลทหารบังคับทางแพ่ง ( เช่น เรียกร้องค่าเสียหาย ) ถ้าจะเรียกร้องต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งต่างหาก  
                                      ๑.๒.๒.๒ อัยการทหาร มีอำนาจฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต่อศาลทหาร โดยร้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนทรัพย์สิน ใช้ราคาทรัพย์ หรือใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่รัฐบาล ( รวมถึงหน่วยงานนิติบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เช่น กองทัพ เป็นต้น )
                   ๒. การพิจารณาคดี
                       ๒.๑ การแต่งทนายว่าความในศาลทหาร
                             ๒.๑.๑ ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ฟ้องคดี สามารถแต่งทนายว่าความในศาลทหารในเวลาปกติได้ ( เพราะในศาลทหารในเวลาไม่ปกติต้องมอบให้อัยการทหารดำเนินคดีอยู่แล้ว ) ส่วนจำเลยสามารถแต่งทนายว่าความได้ในศาลทหารในเวลาปกติและศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
                             ๒.๑.๒ การตั้งทนายให้จำเลย ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๖ )
                                     ๒.๑.๒.๑ ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง ๑๐ ปีขึ้นไป ศาลต้องถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย
                                    ๒.๑.๒.๒ ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกมากกว่า ๕ ปี แต่ไม่ถึง ๑๐ ปี ถ้าจำเลยแถลงว่าจำเลยยากจน และต้องการทนาย ให้ศาลจัดหาทนายให้จำเลย ( หมายความว่า กรณีหลังนี้จำเลยต้องเป็นผู้เสนอความต้องการเอง )
                            ๒.๑.๓ ทนายความที่จะว่าความในศาลทหารได้ จะต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมายทนายความและตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด และได้รับอนุญาตจากศาลให้ว่าความได้ ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๕ วรรคสาม )
                            ๒.๑.๔ ศาลอาญาศึก ไม่อนุญาตให้ศาลแต่งทนาย ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๕ )

                       ๒.๒ การยื่นเรื่องราวขอโอนคดี ในกรณีที่มีเหตุผลที่อาจขัดขวางหรือไม่สะดวกในการดำเนินคดี หรือไม่สามารถดำเนินคดีในศาลท้องถิ่นได้ โจทก์หรือจำเลยสามารถยื่นเรื่องราวต่อศาลขอให้โอนคดีไปยังศาลทหารแห่งอื่น เมื่อศาลทหารสูงสุดอนุญาตก็สามารถโอนได้ โดยถือเป็นคำสั่งอันถึงที่สุด ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๗ )
                       ๒.๓ ศาลทหารมีอำนาจส่งประเด็นไปให้ศาลทหารแห่งอื่นหรือศาลพลเรือนให้สืบพยานเพิ่มเติมได้ ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๘ )
                          ๒.๔ ในกรณีจำเลยรับสารภาพและไม่ติดใจรับฟังการพิจารณาและสืบพยาน ศาลจะไม่พิจารณาและสืบพยานต่อหน้าจำเลยก็ได้ ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๙ )

                       ๒.๕ หากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาของศาล แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ซึ่งปกติจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องโจทก์นั้น แต่หากเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด เช่น เวลา สถานที่กระทำผิด หรือแตกต่างกันในลักษณะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ใกล้เคียงกัน หรือแตกต่างกันระหว่างการกระทำโดยเจตนากับการกระทำโดยประมาท ข้อแตกต่างเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในสาระสำคัญที่ศาลจะยกเป็นเหตุผลในการยกฟ้องโจทก์ได้ ( คือศาลจะยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าข้อเท็จจริงในฟ้องแตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาในเรื่องต่างๆที่กล่าวมานี้ไม่ได้ ) ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๖๐ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น