20 ตุลาคม 2558

การร้องทุกข์ กับ การร้องเรียน (ในทางทหาร)


          ในวงการราชการ เรามักจะได้ยินคำว่า “ ร้องทุกข์ ” และ “ ร้องเรียน ” อยู่ควบคู่กัน จนบางคนเข้าใจว่าเป็นคำๆเดียวกัน ทั้งที่ในความเป็นจริง ตามตัวบทกฎหมายแล้วมีรายละเอียดในการใช้ต่างกัน
( ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต )

การร้องทุกข์ ถ้าเป็นความหมายโดยทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อธิบายถึง “ คำร้องทุกข์ ” ว่าหมายถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่ามีผู้กระทำผิดขึ้น ไม่ว่าจะรู้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และเป็นการกล่าวหาโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ
        แต่ถ้าเป็นการร้องทุกข์ในทางทหาร พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖ มาตรา ๒๒ อธิบายว่า หมายถึง การชี้แจงของทหารว่าผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนด้วยการอันไม่เป็นยุติธรรม หรือผิดกฎหมาย หรือแบบธรรมเนียมทหารว่าตนมิได้รับผลประโยชน์หรือสิทธิตามที่ควรจะได้รับในราชการนั้น
       ดังนั้น การร้องทุกข์ของทหารจึงมีลักษณะเฉพาะมากกว่าการร้องทุกข์ของประชาชนทั่วไปตามกฎหมายพลเรือน อีกทั้งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมากกว่า ดังที่จะกล่าวต่อไป

       ส่วนการร้องเรียนนั้น คือการชี้แจงในลักษณะคล้ายกับการร้องทุกข์ แต่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการร้องทุกข์ตามที่กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารกำหนด เช่น ผู้ร้องทุกข์เป็นผู้อื่นที่มิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ซึ่งถ้าเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของพลเรือนก็จะถือว่าเป็น “คำกล่าวโทษ”ตามมาตรา ๒ ( ) มิใช่ “ คำร้องทุกข์ ” ตามมาตรา ๒ ( )  เช่นเดียวกับในทางกฎหมายทหาร ที่หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ แต่ยังอาจถือเป็นการร้องเรียน ซึ่งผู้รับเรื่องร้องเรียน ( ปกติก็จะเป็นผู้บังคับบัญชาทหารเช่นกัน ) อาจนำไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ได้รับการร้องเรียนได้ เพียงแต่จะไม่มีสภาพบังคับให้ผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาเหมือนกับการร้องทุกข์ ( กล่าวคือ เป็นสิทธิของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาดำเนินการตามที่ได้รับร้องเรียนหรือไม่ก็ได้ หากไม่ดำเนินการก็ไม่ถือเป็นความผิด ต่างจากการร้องทุกข์ที่กระทำตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ถูกต้อง ถ้าผู้บังคับบัญชาที่รับการร้องทุกข์แล้วเพิกเฉย จะถือเป็นความผิด )

        ดังที่กล่าวว่า การร้องทุกข์นั้นมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ ซึ่งทหารที่มีความประสงค์จะร้องทุกข์ควรต้องทำความเข้าใจ เพื่อปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการร้องทุกข์ สรุปได้ดังนี้

        ประการแรก การร้องทุกข์เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ที่ได้ความเดือดร้อนจากการกระทำของผู้บังคับบัญชา ที่กระทำแก่ตนอย่างไม่ยุติธรรม ผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นแบบธรรมเนียมทหาร  ดังนั้น ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงเท่านั้นจึงจะมีสิทธิร้องทุกข์ห้ามมิให้มีการร้องทุกข์แทนผู้อื่น รวมถึงห้ามมิให้ลงชื่อรวมกันมาร้องทุกข์ เข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน และห้ามประชุมหารือเรื่องที่จะร้องทุกข์ ( พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ มาตรา ๒๓ )

        ประการที่สอง ช่วงเวลาที่จะร้องทุกข์ได้ คือ หลังจากเหตุที่ทำให้จะต้องร้องทุกข์ผ่านไปแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง และห้ามมิให้ร้องทุกข์ในเวลาเข้าแถว รวมพล หรือกำลังปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ( พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ มาตรา ๒๔  ) เหตุผลที่ห้ามร้องทุกข์ก่อนเวลาผ่านไปยี่สิบชั่วโมง ก็เพื่อให้ผู้ร้องทุกข์ได้พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ไม่หุนหันพลันแล่นร้องทุกข์ด้วยอารมณ์ชั่ววูบที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ส่วนที่ห้ามมิให้ร้องทุกข์ในเวลาเข้าแถว รวมพล หรือปฏิบัติงาน ก็เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดความวุ่นวายหรือเสียหน้าที่ราชการ

        ประการที่สาม การที่ผู้ร้องทุกข์จะร้องทุกข์เพราะถูกผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์ ถ้าผู้บังคับบัญชามิได้ลงทัณฑ์เกินกว่าขอบเขตอำนาจที่กำหนดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ ห้ามมิให้ร้องทุกข์ว่าผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ( พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ มาตรา ๒๕  )

        ประการที่สี่ การร้องทุกข์นั้นต้องร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ที่กระทำให้ตนเดือดร้อน ถ้าไม่แน่ใจว่าเดือดร้อนเพราะใครทำ ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน เพื่อเสนอตามลำดับชั้นไปจนถึงผู้ที่มีอำนาจสั่งการไต่สวนและแก้ไขความเดือดร้อนให้ได้(มาตรา ๒๖ )

        ประการที่ห้า รูปแบบของการร้องทุกข์นั้น อาจร้องทุกข์ด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้ ถ้าร้องทุกข์ด้วยวาจา ผู้รับการร้องทุกข์จะต้องจดข้อความสำคัญของเรื่องที่ร้องทุกข์นั้น แล้วให้ผู้ร้องทุกข์ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน ( มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง ) เช่นเดียวกับการร้องทุกข์เป็นหนังสือ ก็ต้องลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์ด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นผู้บังคับบัญชาไม่มีหน้าที่ต้องพิจารณาคำร้องทุกข์นั้น ( มาตรา ๒๗ ) สรุปก็คือ เงื่อนไขประการหนึ่งของการร้องทุกข์ก็คือ ผู้ร้องทุกข์ต้องแสดงตนด้วยการลงลายมือชื่อ มิใช่เพียงกล่าวโทษลอยๆในลักษณะบัตรสนเท่ห์หรือลักษณะเป็นการฟ้อง บ่นหรือโวยวาย ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นก็คงไม่มีประโยชน์อันใด

        ประการที่หก ถ้าร้องทุกข์ตามเงื่อนไขและขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อผ่านไปสิบห้าวันแล้วเรื่องยังเงียบ ไม่ได้รับคำชี้แจงหรือการแก้ไขความเดือดร้อน ผู้ร้องทุกข์สามารถร้องทุกข์ใหม่ต่อผู้บังคับบัญชาลำดับที่สูงขึ้นไป เช่น ครั้งก่อนร้องทุกข์ต่อผู้บังคับกองร้อยแล้วเรื่องยังเงียบ ผ่านไปสิบห้าวันสามารถร้องทุกข์ใหม่ต่อผู้บังคับกองพันได้ โดยให้ชี้แจงในการร้องทุกข์ครั้งใหม่ด้วยว่า เคยร้องทุกข์ต่อใครมาแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ ( มาตรา ๒๘ )

        หรือหากร้องทุกข์ไปแล้วได้รับการชี้แจงจากผู้บังคับบัญชาที่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้ แต่ผู้ร้องทุกข์ยังไม่หมดความสงสัย ( หรือที่เรียกกันว่ายังไม่เคลียร์ ) ก็สามารถร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปได้อีกเช่นกัน และก็ต้องชี้แจงเช่นเดียวกันว่าได้ร้องทุกข์เรื่องเดียวกันนั้นต่อใคร และได้รับการชี้แจงมาแล้วอย่างไร ( มาตรา ๓๐ ) ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บังคับบัญชาลำดับสูงขึ้นไปที่รับเรื่องร้องทุกข์ได้พิจารณาการดำเนินการในครั้งก่อนๆถูกต้องชอบธรรมเพียงใด

        ประการที่เจ็ด เป็นบทบังคับสำหรับผู้บังคับบัญชาที่รับเรื่องร้องทุกข์ ให้ต้องรีบไต่สวนและจัดการแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ร้องทุกข์ หรือชี้แจงให้ผู้ร้องทุกข์เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ห้ามมิให้เพิกเฉย มิฉะนั้นจะถือเป็นความผิดวินัยทหาร ( มาตรา ๒๙ )
        เช่นเดียวกับผู้ร้องทุกข์ หากร้องทุกข์ด้วยข้อความที่เป็นเท็จ หรือร้องทุกข์ผิดระเบียบที่กล่าวมา ก็ถือเป็นความผิดวินัยทหารด้วยเหมือนกัน ( มาตรา ๓๑ )

        จะเห็นได้ว่าแม้กฎหมายวินัยทหารจะเปิดช่องทางให้ทหารผู้น้อยมีโอกาสร้องทุกข์เพื่อให้มีการแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนได้ก็ตาม แต่การจะร้องทุกข์ในแต่ละครั้งก็ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข มิฉะนั้นจะกลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนมาทำให้ผู้ร้องทุกข์ตกเป็นผู้กระทำผิดวินัยเสียเอง
        ซึ่งจากบทบัญญัติเรื่องการร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น  พ.อ.ธานินทร์  ทุนทุสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองนิติธรรมทหาร กรมพระธรรมนูญ ได้กรุณาสรุปข้อห้ามในการร้องทุกข์ไว้ในบทความ “ การร้องทุกข์ ” ว่ามี ๑๒ ประการที่หากฝ่าฝืนแล้วถือเป็นการร้องทุกข์ที่ผิดระเบียบ ได้แก่
        ๑. ห้ามมิให้ร้องทุกข์แทนผู้อื่นเป็นอันขาด ( มาตรา ๒๓ )
        ๒. ห้ามมิให้ลงชื่อร่วมกันร้องทุกข์ ( กรณีร้องทุกข์เป็นหนังสือ ) ( มาตรา ๒๓ )
        ๓. ห้ามมิให้เข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน กรณีร้องทุกข์ด้วยวาจา ( มาตรา ๒๓ )
        ๔. ห้ามมิให้ประชุมกันเพื่อหารือเรื่องที่จะร้องทุกข์ ( มาตรา ๒๓ )
            **หมายเหตุ ในประเด็นนี้ พ.อ.ธานินทร์ตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นการประชุมหารือในเรื่องอื่นที่มิใช่เรื่องที่จะร้องทุกข์โดยตรง เช่น หารือว่าจะร้องทุกข์อย่างไรให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ เช่นนี้ก็ไม่ถือว่าเป้นข้อห้ามตามบทบัญญัตินี้
        ๕. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ในเวลาที่กำลังเข้าแถว ( มาตรา ๒๔ )
        ๖. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ในขณะกระทำหน้าที่ราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เวลาเป็นเวรยาม ( มาตรา ๒๔ )
        ๗. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ก่อนเวลาล่วงไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมง นับตั้งแต่มีเหตุจะร้องทุกข์เกิดขึ้น ( มาตรา ๒๔ )
       ๘. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ว่าผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชานั้นมิได้ลงทัณฑ์เกินอำนาจที่จะกระทำได้ตามความในหมวด ๓ แห่งพระราบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร
        ๙. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ข้ามชั้นผู้บังคับบัญชา ( มาตรา ๒๖ )
        ๑๐. ห้ามมิให้ร้องทุกข์โดยไม่ลงลายมือชื่อกรณีร้องทุกข์เป็นหนังสือ ( มาตรา ๒๗ )
       ๑๑. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ใหม่ เมื่อการร้องทุกข์ครั้งก่อนยังล่วงพ้นไปไม่เกิน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบแล้ว ( มาตรา ๒๘ )
        ๑๒. ห้ามมิให้นำข้อความที่เป็นเท็จมาร้องทุกข์ ( มาตรา ๓๑  )

        นอกจากนี้ ผอ.กองนิติธรรมทหารฯยังได้เพิ่มคำอธิบายในตอนท้ายของบทความว่า การร้องทุกข์สามารถใช้ได้ทั้งในกรณีได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินการทั้งด้านวินัยและมาตรการด้านปกครอง เช่น กรณีกำลังพลถูกผู้บังคับบัญชาพักราชการ ปลดออกจากประจำการ หรือถอดยศทหาร ซึ่งส่งผลให้ไม่มีสภาพความเป็นทหารแล้วก็ตาม แต่กำลังพลผู้นั้นก็ยังสามารถใช้กระบวนการร้องทุกข์ได้  ทั้งนี้เป็นไปตามแนวคิดที่ว่า การร้องทุกข์เป็นกระบวนการหนึ่งที่เป็นเครื่องมือตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมในการดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา

        สำหรับในส่วนการปฏิบัติในการร้องเรียนนั้น หากเป็นการร้องเรียนของประชาชนต่อหน่วยงานทั่วไป การปฏิบัติก็คงไม่มีเงื่อนไขหลักเกณฑ์มากมายนัก เพราะเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตแห่งกฎหมาย  ส่วนในทางทหารนั้นมีขั้นตอนการปฏิบัติในการร้องเรียนโดยคร่าวๆตามคำชี้แจงทหาร ที่ ๒/๗๘๔๐/๒๔๗๖ เรื่อง การร้องเรียน คือ ให้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการแก้ไข หรือทำความเห็นเสนอขึ้นไปจนถึงผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งการเพื่อดำเนินการ

        บันทึกนายทหารพระธรรมนูญฉบับนี้มิได้ต้องการชี้แนะให้ผู้อ่านโดยเฉพาะพี่น้องทหารเป็น “คนหัวหมอ” ที่ไม่พอใจสิ่งใดก็จะเอาแต่หาโอกาสร้องทุกข์หรือร้องเรียนอยู่ร่ำไป         ในขณะเดียวกันก็ไม่ประสงค์จะให้ก้มหน้ารับกรรมในทุกๆสถานการณ์ ในเมื่อมีแนวทางการปฏิบัติที่ชอบธรรมตามกฎหมาย ก็สมควรที่จะเรียนรู้และนำไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อปลดเปลื้องทุกข์ให้สามารถใช้ชีวิตและปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มที่ อันจะส่งผลดีต่อส่วนรวมต่อไป

        

8 ความคิดเห็น:

  1. แล้วการฟ้องศาลปกครอง ซ้ำซ้อนกับระเบียบการร้องทุกข์ไหมครับ

    ตอบลบ
  2. ดิฉันป็นเพียงแค่ อาสาสมัครทหารพรานผู้น้อย ถ้ากระทำการร้องเรียนไปเรื่องจะเงียบรึไม่ค่ะ เพราะบุคคลที่จะร้องเรียนเป็นถึง ผู้การกรมทหารพรานที่ 43 ต้นสังกัดที่ดิฉันทำงานอยู่ กลัวเรื่องจะถูกกดึงออก เพราะดิฉินไม่มีเส้นสายคอยช่วยเหลือ จึงกลัวว่าเรื่องจะเงียบไม่ได้รับความยุติธรรมค่ะ

    ตอบลบ
  3. แร้วถ้า ทหาร6เดือนไม่ได้ใบลดหย่อนมา จ่าสามรถดำเนินเอกสารแทนได้หรือปล่าว ไกล่เกลียไล่เลี่ยเอาตังกลับทหาร นย.6 เดือน โทรมาขอค่าน้ำมันรถจะไปดำเนินเรื่องให้ 3000 จ่าทำได้หรอ มีหลักฐานการโอน เบอร์โทรจ่า ชื่อจ่า ค่ายนาวิกโยธิน ศูนย์ฝึกทหารใหม่

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ17 ตุลาคม 2561 เวลา 15:27

    ขอปรึกษากรณีถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายออกจากราชการทหาร

    ตอบลบ
  5. อยากให้ช่วยตรวจสอบ มีนายทหารประทวนท่านนึง สังกัด ร.9 พัน.3 กองร้อยอาวุธเบาที่ 1 ชอบกินเงินเดือนพลทหารปล่อยทหารกลับบ้านแล้วกินเงินเดือนพลทหาร ตอนทหารจะปลดไม่ให้เงินฝากทหาร รบกวนลงพื้นที่ช่วยตรวจสอบด้วยครับ

    ตอบลบ
  6. การร้องเรียนข้าราชการทหาร ไม่เคยมาปฏิบัติราชการ นอนอยู่บ้าน และทำธุรกิจส่วนตัวให้เจ้านาย ร้องได้หรือไม่ และต้องร้องไปที่ไหน

    ตอบลบ
  7. ทหารกินเหล้า เสพยาในค่าย ร้องเรียนได้ที่ไหนคะ

    ตอบลบ