22 เมษายน 2559

ชะตากรรมของข้าราชการที่ถูกสั่งพักราชการ

คำสั่งพักราชการ เป็นมาตรการทางปกครองสำหรับดำเนินการต่อทหารที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด  แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับการปลดออกจากราชการ  แต่ก็มีผลกระทบต่อสถานภาพหน้าที่การงาน และอาจพ่วงไปถึงการเงินของผู้ได้รับคำสั่งไม่น้อย  


วันนี้เราจะมาดูกันว่า  ชะตากรรมของข้าราชการทหารที่ถูกสั่งพักราชการจะเป็นไปในทิศทางใดบ้าง  และจะมีแนวทางผ่อนหนักเป็นเบาได้หรือไม่  อย่างไร



ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ.๒๕๒๘ ข้อ ๕ ระบุสาเหตุของการสั่งพักราชการข้าราชการทหาร  คือ  ข้าราชการผู้นั้นถูกฟ้องคดีอาญา  หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา ( ยกเว้นความผิดลหุโทษหรือความผิดที่กระทำโดยประมาท )  หรือต้องหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง  จนต้องถูกสอบสวนเพื่อลงทัณฑ์สถานหนัก  และผู้บังคับบัญชาเห็นว่าถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่ราชการในระหว่างที่พิจารณาหรือสอบสวนคดีแล้วจะทำให้ราชการเสียหาย  ผู้บังคับบัญชาก็จะสั่งพักราชการ  โดยมีผลตั้งแต่วันออกคำสั่ง

ระยะเวลาในการถูกพักราชการนั้น โดยปกติแล้วจะต้องถูกพักราชการจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือสอบสวนเสร็จ

แต่ต่อมามีการผ่อนปรนตามข้อบังคับฯ ( ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๕๕ ว่า  ข้าราชการทหารที่ถูกสั่งพักราชการอาจขอกลับเข้ารับราชการได้  แม้ในระหว่างที่การพิจารณาหรือการสอบสวนยังไม่เสร็จ  หากเข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอได้ คือ

หนึ่ง ผู้บังคับบัญชาเห็นควรให้กลับเข้ารับราชการได้ เพราะพฤติการณ์ของผู้ที่ถูกสั่งพักพักราชการนั้นไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพิจารณาหรือการสอบสวน หรือไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบอีกต่อไปแล้ว  หรือ

สอง การดำเนินการทางวินัยนั้นผ่านไปเกินหนึ่งปีแล้วก็ยังไม่เสร็จซะที  และผู้ที่ถูกดำเนินการนั้นก็ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุให้ถูกดำเนินการแล้ว

หากร้องขอและเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือสองอย่างข้างต้น  ผู้บังคับบัญชาก็อาจพิจารณาให้ผู้ที่ถูกพักราชการนั้น  กลับเข้ารับราชการได้ตามเดิม

และเมื่อคดีถึงที่สุดหรือการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว  ไม่ว่าผู้นั้นจะยังถูกสั่งพักราชการอยู่ หรือได้รับอนุญาตให้กลับเข้ารับราชการได้แล้วก็ตาม  ชะตากรรมจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาคดีอันเป็นที่สุด  หรือผลการสอบสวนนั้น

หากผลออกมาว่า  ผู้ที่ถูกสั่งพักราชการไม่มีความผิด  ไม่มีมลทินหรือมัวหมอง  ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือเทียบเท่า นับตั้งแต่วันสั่งพักราชการ ( ก็คือจะมีผลเท่ากับไม่เคยมีการสั่งพักราชการ )

ถ้าผู้สั่งพักราชการไม่มีความผิด แต่ยังมีมลทินหรือมัวหมอง เช่น  พ้นผิดมาได้แบบคลุมเครือ  ยังเป็นที่กังขา  ข้องใจของสังคม  หรือพ้นผิดในลักษณะกระทำผิดแต่กฎหมายไม่เอาผิด เช่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยอ้างป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น ลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาว่าจะสั่งให้กลับเข้ารับราชการ  หรือจะให้ออกจากราชการ  โดยมีผลตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง ( ไม่มีผลย้อนหลังเหมือนกรณีให้กลับเข้ารับราชการเพราะไม่มีความผิดและไม่มีมลทินมัวหมอง )

กรณีสุดท้าย คือปรากฎว่ามีความผิด ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งให้ราชการ   ส่วนจะให้ออกแบบมีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญหรือไม่นั้นก็ต้องไปพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ระบุตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัดฯ   และ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ

โดยถ้าให้ออกโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ คำสั่งให้ออกนั้นจะมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันสั่งพักราชการ  แต่ถ้าให้ออกแบบมีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ จะมีผลตั้งแต่วันออกคำสั่ง ( ไม่ย้อนหลัง )

อย่างไรก็ตาม  ยังพอมีหนทางรอดสำหรับผู้ถูกสั่งพักราชการที่กระทำความผิด  คือ  ถ้าศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดแต่รอการกำหนดโทษ  รอการลงโทษ หรือลงโทษจำคุกและปรับแต่ให้ยกโทษจำคุก   หรือให้รอการลงโทษจำคุกไว้   หรือแค่ปรับสถานเดียว   หรือเป็นกรณีผู้บังคับบัญชาสั่งลงทัณฑ์ทางวินัย ซึ่งความผิดนั้นไม่เกี่ยวกับการทุจริตหรือประโยชน์ของทางราชการ  กรณีเหล่านี้ผู้บังคับบัญชาอาจสั่งให้กลับเข้ารับราชการหรือให้ออกก็ได้ ( เป็นทางเลือกของผู้บังคับบัญชาเช่นเดียวกับกรณีไม่มีความผิดแต่มีมลทิน )

สำหรับเงินเดือนที่ถูกงดระหว่างสั่งพักราชการ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการตัด  งด  และจ่ายเงินรายเดือน พ.ศ.๒๕๐๔ กำหนดแนวทางปฏิบัติว่า

เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วปรากฎว่าไม่มีความผิด  ซึ่งจะได้กลับเข้ารับราชการ  เงินเดือนที่ถูกงดจ่ายก็จะได้รับคืนเต็มจำนวน

ถ้าไม่มีความผิดแต่มีมลทินมัวหมอง  หรือมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือรอลงอาญา และผู้บังคับบัญชาพิจารณาให้กลับเข้ารับราชการ  เงินเดือนที่ถูกงดไว้จะได้คืนไม่เกินครึ่งหนึ่งของเงินอัตราเงินเดือนที่ได้รับก่อนถูกควบคุมตัวหรือถูกสั่งพักราชการ  ยกเว้นค่าเช่าบ้านจะได้รับคืนเต็มจำนวน

ถ้าศาลพิพากษาว่ามีความผิด  ให้จำคุกหรือหนักกว่าจำคุก  หรือถูกปลด ถูกถอดยศ ถูกให้ออกแบบไม่มีบำเหน็จบำนาญ  เงินที่งดจ่ายตอนพักราชการก็เลิกหวังไปได้เลย

ถ้าโชคร้ายหนักกว่านั้น  ดันตายในระหว่าถูกพักราชการ   โดยที่คดียังไม่ถึงที่สุด  หรือการสอบสวนยังไม่เสร็จ  ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยตามหลักฐานที่มีอยู่ว่าจะจ่ายคืนให้มากน้อยเพียงใด 


แต่ถึงเวลานั้นคงไม่คิดมากแล้ว  เพราะคนที่ได้รับเงินคงไม่ใช่เราแน่นอน...^^


8 เมษายน 2559

ระวางโทษสำหรับทหารที่ไปทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น

จากบันทึกฉบับที่แล้ว เรื่อง "เมื่อถูกทหารทำร้ายร่างกาย จะดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างไร"  จะเห็นได้ว่า หากเกิดเหตุการณ์ทหารไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหารด้วยกัน  ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่จะคุ้มครองทหารเป็นกรณีพิเศษมิให้ต้องรับผิด  ตรงข้าม  อาจจะต้องรับผิดเพิ่มขึ้น  ขึ้นอยู่กับสถานภาพของผู้ถูกทำร้าย


ในกรณีทหารไปทำร้ายร่างกายพลเรือน หรือบุคคลทั่วไปที่มิใช่ทหาร

หากทำร้ายร่างกายเพียงเล็กน้อย  ไม่ถึงกับบาดเจ็บจนเรียกว่าได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ( ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป )  เช่น  ตบหน้า ๑ ครั้ง  ชกต่อยให้ฟกช้ำเล็กน้อย ๒ - ๓ วันก็หาย  กรณีแบบนี้ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายแต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ  เป็นความผิดลหุโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๑  ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑  เดือน  หรือปรับไม่เกิน  ๑๐,๐๐๐  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ถ้าลงไม้ลงมือถึงขั้นเลือดตกยางออก  กล้ามเนื้อฉีกขาด เรียกว่าได้รับอันตรายแก่รา่งกาย หรือถึงขั้นสลบไสลไม่ได้สติหลายวัน แม้อาการภายนอกจะดูเหมือนไม่เป็นอะไรมาก แต่ก็ถือว่าได้รับอันตรายแก่จิตใจ  ซึ่งหากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ  การกระทำจะเข้าองค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  ๒๙๕  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี  หรือปรับไม่เกิน ๔,๐๐๐ บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากเมื่อพิจารณาจากลักษณะการทำร้ายร่างกาย เป็นการทำร้ายบุพการี  , ทำร้ายเจ้าพนักงาน ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน , ทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองเอาไว้ก่อน  โดยทรมานโหดร้าย หรือทำร้ายเพื่อความสะดวกในการกระทำผิดหรือปกปิดความผิดอย่างอื่น พฤติการณ์เหล่านี้ถือเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ผู้กระทำต้องรับโทษสูงขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๖ คือ ระวางโทษไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับ " อันตรายสาหัส" ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา  ๒๙๗ เช่น ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะ  เสียโฉมติดตัว ( คือรักษาให้กลับมาดีเหมือนเดิมไม่ได้ ) ทุพพลภาพ  ทนทุกข์เวทนาหรือทำการงานปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน  เหล่านี้เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือน ถึง ๑๐ ปี และยิ่งถ้าบวกด้วยพฤติกรรมการทำร้ายที่เป็นเหตุฉกรรจ์ตามที่กล่าวมาแล้ว ระวางโทษก็จะเพิ่มขึ้นเป็นจำคุกเริ่มตั้นตั้งแต่ ๒ - ๑๐ ปี   ( ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๘ )

บางกรณีทหารอาจไม่ได้ลงมือหรือตั้งใจทำร้ายใครโดยตรง  แต่เข้าไปร่วมในการชุลมุนต่อสุ้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป แล้วเกิดมีผู้ได้รับอันตรายสาหัส ( คือบาดเจ็บด้วยอาการตาม ป.อาญา มาตรา ๒๙๗ ) ก็ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะแสดงให้เห็นได้ว่า ตนได้เข้าไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้ หรือป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็จะไม่ต้องรับโทษ ( ป..อาญา มาตรา ๒๙๙ )

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ - ๒๙๙ ที่กล่าวมานี้ ถ้าทหารกระทำความผิดดังกล่าวในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ยามรักษาการณ์  หรือปฏิบัติภารกิจใดๆที่มีอาวุธของหลวงติดตัวอยู่ด้วย ต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นอีกครึ่งหนึ่ง ( ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๕๐ ) 

ในกรณีที่ทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ( ไม่ได้มีเจตนาฆ่ามาแต่ต้น ) ระวางโทษจำคุก  ๓ - ๑๕ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๐

แต่ถ้าหากผู้ถูกทำร้ายเป็นทหารด้วยกัน  นอกจากจะต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญาดังที่ยกมาข้างต้นแล้ว  ยังมีกฎหมายของทางทหาร  คือ  ประมวลกฎหมายอาญาทหาร  ที่บัญญัติโทษไว้เป็นการเฉพาะด้วย  ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดโทษตามสถานะของทหารผู้ถูกทำร้าย

ถ้าทหารที่ถูกทำร้ายนั้นอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เวรยาม  ผู้กระทำมีความผิดฐานทำร้ายทหารยาม ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษตามแต่สถานการณ์  คือ
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาปกติ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาสงคราม หรือในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ - ๒๐ ปี
        - ถ้ากระทำความผิดต่อหน้าราชศัตรู ระวางโทษ ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต  หรือ จำคุกตั้งแต่ ๕ - ๒๐ ปี
         และถ้าผลของการทำร้าย ทำให้ผู้ถูกทำร้ายถึงตาย หรือบาดเจ็บสาหัส ก็ต้องระวางโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

ถ้าผู้ถูกทำร้าย เป็นผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำผิด  ผู้กระทำจะมีความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายผู้บังคับบัญชา ามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษตามแต่สถานการณ์  คือ
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาปกติ ระวางโทษจำคุก ๑ - ๗ ปี
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาสงคราม หรือในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ - ๒๐ ปี
         - ถ้ากระทำความผิดต่อหน้าราชศัตรู ระวางโทษ ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต  หรือ จำคุกตั้งแต่ ๕ - ๒๐ ปี

ถ้าผู้ถูกกระทำมิใช่ผู้บังคับบัญชา  แต่เป็นนายทหารผู้ใหญ่เหนือกว่าผู้กระทำ ( ดูข้อแตกต่างระหว่าง ผู้บังคับบัญชา กับ ผู้ใหญ่ ได้ ในบันทึก " ยศสูงกว่า ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้บังคับบัญชาเสมอไป " ) ผู้กระทำมีความผิดฐานทำร้ายทหารผู้ใหญ่  ตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๓๙ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน  ๕  ปี

หากผลแห่งการทำร้ายผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่นั้น ทำให้ผู้ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ชีวิต ผู้กระทำก็ต้องรับโทษในอัตราที่หนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย ( ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๔๐ )

ถ้าลักษณะพฤติกรรม เป็นการร่วมกันทำร้ายผู้อื่นโดยผู้กระทำเป็นทหารตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปซึ่งมั่วสุมกัน เป็นความผิดฐานกระทำการกำเริบ ตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๔๒ ซึ่งต้องระวางโทษตามสถานการณ์ คือ
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาปกติ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาสงคราม หรือในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ - ๒๐ ปี

        - ถ้ากระทำความผิดต่อหน้าราชศัตรู ระวางโทษ ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต  หรือ จำคุกตั้งแต่ ๓ - ๒๐ ปี

และทหารแม้เพียงคนใดคนหนึ่งที่มั่วสุม ทำร้ายผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๔๒ นั้นมีอาวุธด้วย  คนอื่นที่ร่วมกระทำการนั้นแม้ไม่มีอาวุธก็ต้องรับโทษแบบเดียวกันไปด้วย โดยมีระวางโทษเพิ่มสูงขึ้น คือ
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาปกติ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี
         - ถ้าเป็นห้วงเวลาสงคราม หรือในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ - ๒๐ ปี
        - ถ้ากระทำความผิดต่อหน้าราชศัตรู ระวางโทษ ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต  หรือ จำคุกตั้งแต่ ๕ - ๒๐ ปี

    




7 เมษายน 2559

แนวทางการดำเนินคดีทำร้ายร่างกาย ที่มีทหารเป็นคู่กรณี

แม้ว่าทหารจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการฝึกอบรมให้เป็นสุภาพบุรุษ  มีความอดทน  อยู่ในระเบียบวินัย 

แต่ด้วยความที่เป็นสังคมใหญ่พอสมควร มีจำนวนสมาชิกมาก  ประกอบกับทหารเองก็ยังจัดว่าเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ยังอยู่ภายใต้อารมณ์รัก โลภ  โกรธ  เกลียด  จึงมีความเป็นไปไปได้ที่จะมีการกระทบกระทั่งกัน  ไม่ว่าจะระหว่างทหารด้วยกันเอง  หรือกับบุคคลภายนอก  จนบางครั้งก็กลายเป็นชนวนวิวาท  หรือถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกาย  เป็นเรื่องเป็นราวกันขึ้นมา

บันทึกนายทหารพระธรรมนูญฉบับนี้  จึงขอกล่าวถึงแนวทางดำเนินการทางกฎหมาย  สำหรับคดีทำร้ายร่างกาย  ที่มีทหารเป็นคู่กรณี  ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ 



กรณีที่ผู้กระทำเป็นทหาร  ไม่ว่าจะเป็นทหารประจำการ  คือ  บรรดาข้าราชการทหาร ทั้งนายสิบ  นายร้อย นายพัน  นายพล  หรือเป็นทหารกองประจำการ  คือ บรรดาน้องๆพลทหารหรือแม้แต่เป็นนักเรียนทหาร เช่น นักเรียนนายสิบ  นายเรียนนายร้อย บุคคลเหล่านี้เรียกว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ( ตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ ) ซึ่งต้องฟ้องคดีและพิจารณาคดีในศาลทหาร 

ยกเว้นจะมีพลเรือน  ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร  มาร่วมลงมือด้วย  อย่างนี้เป็นข้อยกเว้น ที่ต้องไปพิจารณาคดีในศาลพลเรือน 

ส่วนกระบวนการก่อนเข้าสู่ศาล  ก็ไม่ต่างจากกระบวนการยุติธรรมของพลเรือนมากนัก  คือมีการร้องทุกข์  สอบสวน  ส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการทหารพิจารณาสั่งฟ้อง

การร้องทุกข์  ผู้เสียหายซึ่งไม่ว่าจะเป็นทหารด้วยกันหรือพลเรือน  สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนคดีอาญาทั่วไป  หรือร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำผิด  เพื่อให้พิจารณาสั่งให้มีการีสอบสวนการกระทำผิด 

ผู้มีอำนาจสอบสวนความผิด  ตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมายมีอำนาจสอบสวนอยู่แล้ว  ส่วนทางฝ่ายทหาร ก็มีนายทหารพระธรรมนูญ ( นธน.) อัยการทหาร ( สอบสวนเพิ่มเติม ) หรือนายทหารสัญญาบัตรที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย 

เมื่อสอบสวนเสร็จ ก็จะสรุปผลการสอบสวน  ส่งให้อัยการทหารพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่  หรือต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม หรือต้องส่งให้พนักงานอัยการ ( พลเรือน ) รับไปดำเนินคดีในศาลยุติธรรม หากเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร 

ผู้เสียหายเองก็อาจเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการทหาร  ยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหารในเวลาปกติได้  

หรือยิ่งถ้าผู้เสียหายเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารด้วย เช่น เป็นทหารด้วยกัน ก็อาจยื่นฟ้องต่อศาลทหารในเวลาปกติได้โดยตรง  แต่ทั้งนี้ก็ต้องผ่านขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องเช่นเดียวกับคดีอาญาของพลเรือน 

เมื่อคดีเข้าสู่ศาล ศาลก็จะดำเนินกระบวนการพิจารณา  ซึ่งก็จะนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้กันในศาลพลเรือนมาใช้ด้วย เช่น การนัดยื่นคำให้การ การนัดพิจารณา เป็นต้น

เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจริง และกำหนดบทลงโทษ  ซึ่งปกติก็จะเป็นโทษจำคุกแล้ว ก็จะส่งหมายแจ้งโทษเด็ดขาด ไปให้ผู้มีอำนาจลงโทษ ลงนามเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา

ผู้มีอำนาจลงโทษ ( ตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๖๕ ) ได้แก่ ผู้บังคับบัญชาของจำเลยชั้น ผบ.พล.ขึ้นไป  หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหารชั้นต้น ( ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกขึ้นไป ) หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลประจำหน่วยทหาร หรือศาลอาญาศึก ( ซึ่งเป็นศาลทหารที่ตั้งขึ้นในพื้นที่พิเศษ ) 

การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลทหาร ซึ่งปกติคือโทษจำคุกนั้น ก็จะส่งไปจำคุกในเรือนจำทหาร  ส่วนถ้าเป็นคำพิพากษาศาลยุติธรรม ( กรณีที่ส่งไปพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม ) ก็ดำเนินการไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

อีกกรณีหนึ่ง คือ ทหารเป็นผู้เสียหาย คือเป็นผู้ถูกทำร้ายร่างกาย  แนวทางการดำเนินคดี ก็ต้องดูจากผู้กระทำ ว่าเป็นทหารด้วยกัน หรือไปถูกพลเรือนทำร้ายร่างกายเข้าให้

ถ้าถูกทหารด้วยกันทำร้าย ก็ใช้แนวทางตามที่กล่าวมาข้างต้น 

ถ้าถูกพลเรือนทำร้าย ก็ดำเนินการเหมือนคดีอาญาทั่วไป คือแจ้งความต่อตำรวจ ซึ่งกรณีแบบนี้พนักงานสอบสวนมีอำนาจเต็มในการสอบสวน ก่อนจะส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลยุติธรรม

หรืออีกช่องทางหนึ่ง หากไม่ทันใจก็เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรง โดยไม่ผ่านพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ แต่วิธีนี้ก็ต้องผ่านกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องจากศาลก่อน ว่าคดีมีมูลพอที่ศาลจะรับฟ้องหรือไม่ 

สำหรับระวางโทษคดีทำร้ายร่างกาย ที่มีทหารเป็นคู่กรณี จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะพฤติกรรมการทำร้าย และสถานภาพของผู้ถูกทำร้าย  ซึ่งจะกล่าวถึงในบันทึกฉบับต่อไป