21 ตุลาคม 2558

ยศสูงกว่า ไม่ได้หมายความว่าเป็น " ผู้บังคับบัญชา" เสมอไป


                   ผู้เขียนเคยดูละครไทยที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับทหาร  ซึ่งมีบทพูดของตัวละครที่เป็นทหารยศสูงกว่า มักจะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของตัวละครที่เป็นทหารยศน้อยกว่า เช่น ตัวละครเป็นทหารสัญญาบัตรชั้นยศนายพัน กล่าวข่มตัวละครที่เป็นพลทหารว่า “ กล้าลองดีกับผู้บังคับบัญชาเหรอ! ” ทั้งที่พิจารณาตามเนื้อเรื่องแล้ว  ตัวละครที่เป็นพลทหารนั้นไม่ได้อยู่ในสังกัดหรือภายใต้การบังคับบัญชาของตัวละครที่กล่าวนั้นเลย

                หรือแม้แต่ในชีวิตจริง ก็มีหลายครั้งที่ผู้เขียนได้ยินนายทหารผู้ใหญ่บางท่านเรียกตัวเองว่าเป็นผู้บังคับบัญชาทุกครั้งหรือเกือบทุกครั้ง ในการสนทนากับผู้มียศต่ำกว่า  ไม่ว่าคู่สนทนานั้นจะเป็นผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนจริงๆหรือไม่

                  หรือหากไม่เช่นนั้น ทหารชั้นผู้น้อยเองก็จะเรียกนายทหารที่มียศสูงกว่า ( โดยเฉพาะชั้นสัญญาบัตร ) ว่า “ หัวหน้า ” หรือ “ เจ้านาย ” ( ตัวผู้เขียนเองก็เคยเรียกนายทหารผู้ใหญ่ชั้นยศนายพันที่มิได้มีตำแหน่งผู้บังคับหน่วยว่า “ หัวหน้า ” มาตั้งแต่เป็นนายสิบ ) เสมือนว่าผู้เรียกนั้นเป็น “ลูกน้อง” หรือบริวารของผู้ถูกเรียก ทั้งที่จริงบางทีแทบจะไม่มีโอกาสได้เฉียดไปทำงานเกี่ยวข้องกันเลยด้วยซ้ำ

                สถานการณ์เหล่านี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจไปว่า นายทหารที่มียศสูงกว่าจะต้องถือเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้มียศต่ำกว่าเสมอ   ซึ่งไม่เป็นจริงในทุกกรณี เพราะการมียศสูงกว่า อาจเป็นได้ทั้ง “ผู้บังคับบัญชา” หรือเป็นเพียง “ ผู้ใหญ่” ที่มีอาวุโสสูงกว่าเท่านั้น

                สองคำนี้มีสถานภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งควรทำความเข้าใจและแยกแยะให้ถูกต้อง เพราะจะส่งผลถึงการปฏิบัติตนในระบบการปกครองบังคับบัญชา รวมถึงการดำเนินการทางวินัยหรือกฎหมายทหารด้วย เช่น การกระทำความผิดต่อผู้บังคับบัญชาและผู้ใหญ่ อัตราโทษที่จะได้รับจะแตกต่างกัน โดยการกระทำต่อผู้บังคับบัญชาจะมีโทษหนักกว่าการกระทำต่อผู้ใหญ่ซึ่งถ้าหากถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาเหมือนกันหมด ก็จะกลายเป็นว่าต้องรับโทษหนักทุกกรณี เท่ากับเพิ่มภาระกรรมให้ผู้กระทำโดยไม่สมควรแก่เหตุ

                ข้อแตกต่างระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใหญ่

                ผู้บังคับบัญชา คือ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลทุกข์สุขของทหาร ทั้งรับผิดชอบในความประพฤติ การฝึกสอน การอบรม การลงทัณฑ์ ตลอดจนการสั่งการแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และให้ความดีความชอบแก่ทหารได้ โดยแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ
                ๑. ผู้บังคับบัญชาโดยตรง คือ ผู้บังคับบัญชาที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดสำหรับดูแลทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งจะมีเพียงคนเดียว เช่น ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพลทหารที่สังกัดหมู่ปืนเล็ก ก็คือผู้บังคับหมู่ , ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของกำลังพลในกองร้อยก็คือผู้บังคับกองร้อย เป็นต้น
                ๒. ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น คือ ผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือขึ้นไปจากผู้บังคับบัญชาโดยตรง หรือเป็นเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาโดยตรงขึ้นไปอีก ซึ่งจะมีมากกว่าหนึ่งคน แล้วแต่ว่าสายการบังคับบัญชาที่เหนือขึ้นไปจะยาวแค่ไหน เช่น ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของพลทหารก็คือผู้บังคับหมวด ( ซึ่งอยู่เหนือผู้บังคับหมู่ที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ) ถัดขึ้นไปอีกก็เป็นผู้บังคับกองร้อย ผู้บังคับกองพัน เป็นต้น
                โดยปกติ ผู้บังคับบัญชาในหน่วยทหารปกติ ( หน่วยกำลังรบ ) ก็จะมีตำแหน่งหลักตายตัวอยู่แล้ว อย่างเช่นหน่วยทหารของกองทัพบกก็จะเริ่มตั้งแต่ผู้บังคับหมู่  ผู้บังคับหมวด   ผู้บังคับกองร้อย  ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม ผู้บัญชาการกองพล แม่ทัพ ไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
                ส่วนในหน่วยที่มิใช่หน่วยกำลังรบ เช่น กอง แผนก ศูนย์ กรม หรือหน่วยสายวิทยาการ ก็จะมีผู้บังคับบัญชาชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าแผนก ผู้บัญชาการศูนย์ เจ้ากรม ซึ่งถ้าจะเทียบตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหลักในหน่วยกำลังรบ ก็จะใช้วิธีการเทียบจากอัตราเงินเดือน เช่น ผู้อำนวยการกองที่รับเงินเดือนอัตราพันเอก ( ชั้นยศพันเอก ) ก็จะเทียบเท่าผู้บังคับการกรมซึ่งรับอัตราเงินเดือนและชั้นยศพันเอกเช่นกัน เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดจะไม่ขอกล่าวในบทความนี้

                สำหรับ “ ผู้ใหญ่ ” หรือบางที่เรียกว่า ผู้ใหญ่เหนือตน นั้น คือ ผู้ที่มียศสูงกว่า แต่ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาตามที่กล่าวมาข้างต้น ไม่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการปกครอง บังคับบัญชาหรือให้คุณให้โทษได้ตามระเบียบ เช่น อยู่คนละสังกัด หรือสังกัดเดียวกันแต่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นผู้บังคับบัญชาคนละฝ่ายที่แยกสายการบังคับบัญชาต่างหากจากกัน

                ถ้าจะเปรียบเทียบเป็นการลำดับญาติตามกฎหมาย
               ผู้บังคับบัญชาโดยตรง ก็เปรียบเหมือนบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีหน้าที่ปกครองดูแล รับผิดชอบชีวิตลูกโดยตรง หากเรากระทำผิดต่อท่านก็จะต้องรับโทษหนักกว่ากระทำต่อบุคคลอื่นทั่วไป

                 ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เปรียบเหมือนบุพการีที่เหนือขึ้นไป คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ฯลฯ

                “ ผู้ใหญ่ ” หรือ “ ผู้ใหญ่เหนือตน ” เปรียบเหมือนญาติผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นญาติห่างๆ เช่น ลุง ป้า น้า อา  ฯลฯ ที่ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบชีวิตของเรา แต่เป็นบุคคลที่เราควรต้องให้ความเคารพนับถือ และท่านสามารถว่ากล่าวตักเตือนเราได้


                ดังนั้น จึงคงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า “ ผู้บังคับบัญชาทุกคนเป็นผู้ใหญ่ แต่ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ทุกคนจะเป็นผู้บังคับบัญชาได้ ” ทั้งนี้ เพราะการจะเป็นผู้บังคับบัญชาได้นั้น จะต้องมีสิ่งที่รองรับให้เป็นได้ คือ ต้องอยู่ในตำแหน่งที่ระบุไว้ตามการจัดสายการบังคับบัญชา  หรือมีกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือแบบธรรมเนียมกำหนดไว้อย่างชัดเจน หรือมีการมอบอำนาจบังคับบัญชาจากผู้มีอำนาจฯ มิใช่ว่ามียศสูงกว่าแล้วจะถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้มียศต่ำกว่าทุกคนไป 

20 ตุลาคม 2558

การร้องทุกข์ กับ การร้องเรียน (ในทางทหาร)


          ในวงการราชการ เรามักจะได้ยินคำว่า “ ร้องทุกข์ ” และ “ ร้องเรียน ” อยู่ควบคู่กัน จนบางคนเข้าใจว่าเป็นคำๆเดียวกัน ทั้งที่ในความเป็นจริง ตามตัวบทกฎหมายแล้วมีรายละเอียดในการใช้ต่างกัน
( ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต )

การร้องทุกข์ ถ้าเป็นความหมายโดยทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อธิบายถึง “ คำร้องทุกข์ ” ว่าหมายถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่ามีผู้กระทำผิดขึ้น ไม่ว่าจะรู้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และเป็นการกล่าวหาโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ
        แต่ถ้าเป็นการร้องทุกข์ในทางทหาร พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖ มาตรา ๒๒ อธิบายว่า หมายถึง การชี้แจงของทหารว่าผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนด้วยการอันไม่เป็นยุติธรรม หรือผิดกฎหมาย หรือแบบธรรมเนียมทหารว่าตนมิได้รับผลประโยชน์หรือสิทธิตามที่ควรจะได้รับในราชการนั้น
       ดังนั้น การร้องทุกข์ของทหารจึงมีลักษณะเฉพาะมากกว่าการร้องทุกข์ของประชาชนทั่วไปตามกฎหมายพลเรือน อีกทั้งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมากกว่า ดังที่จะกล่าวต่อไป

       ส่วนการร้องเรียนนั้น คือการชี้แจงในลักษณะคล้ายกับการร้องทุกข์ แต่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการร้องทุกข์ตามที่กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารกำหนด เช่น ผู้ร้องทุกข์เป็นผู้อื่นที่มิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ซึ่งถ้าเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของพลเรือนก็จะถือว่าเป็น “คำกล่าวโทษ”ตามมาตรา ๒ ( ) มิใช่ “ คำร้องทุกข์ ” ตามมาตรา ๒ ( )  เช่นเดียวกับในทางกฎหมายทหาร ที่หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ แต่ยังอาจถือเป็นการร้องเรียน ซึ่งผู้รับเรื่องร้องเรียน ( ปกติก็จะเป็นผู้บังคับบัญชาทหารเช่นกัน ) อาจนำไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ได้รับการร้องเรียนได้ เพียงแต่จะไม่มีสภาพบังคับให้ผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาเหมือนกับการร้องทุกข์ ( กล่าวคือ เป็นสิทธิของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาดำเนินการตามที่ได้รับร้องเรียนหรือไม่ก็ได้ หากไม่ดำเนินการก็ไม่ถือเป็นความผิด ต่างจากการร้องทุกข์ที่กระทำตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ถูกต้อง ถ้าผู้บังคับบัญชาที่รับการร้องทุกข์แล้วเพิกเฉย จะถือเป็นความผิด )

        ดังที่กล่าวว่า การร้องทุกข์นั้นมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ ซึ่งทหารที่มีความประสงค์จะร้องทุกข์ควรต้องทำความเข้าใจ เพื่อปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการร้องทุกข์ สรุปได้ดังนี้

        ประการแรก การร้องทุกข์เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ที่ได้ความเดือดร้อนจากการกระทำของผู้บังคับบัญชา ที่กระทำแก่ตนอย่างไม่ยุติธรรม ผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นแบบธรรมเนียมทหาร  ดังนั้น ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงเท่านั้นจึงจะมีสิทธิร้องทุกข์ห้ามมิให้มีการร้องทุกข์แทนผู้อื่น รวมถึงห้ามมิให้ลงชื่อรวมกันมาร้องทุกข์ เข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน และห้ามประชุมหารือเรื่องที่จะร้องทุกข์ ( พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ มาตรา ๒๓ )

        ประการที่สอง ช่วงเวลาที่จะร้องทุกข์ได้ คือ หลังจากเหตุที่ทำให้จะต้องร้องทุกข์ผ่านไปแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง และห้ามมิให้ร้องทุกข์ในเวลาเข้าแถว รวมพล หรือกำลังปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ( พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ มาตรา ๒๔  ) เหตุผลที่ห้ามร้องทุกข์ก่อนเวลาผ่านไปยี่สิบชั่วโมง ก็เพื่อให้ผู้ร้องทุกข์ได้พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ไม่หุนหันพลันแล่นร้องทุกข์ด้วยอารมณ์ชั่ววูบที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ส่วนที่ห้ามมิให้ร้องทุกข์ในเวลาเข้าแถว รวมพล หรือปฏิบัติงาน ก็เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดความวุ่นวายหรือเสียหน้าที่ราชการ

        ประการที่สาม การที่ผู้ร้องทุกข์จะร้องทุกข์เพราะถูกผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์ ถ้าผู้บังคับบัญชามิได้ลงทัณฑ์เกินกว่าขอบเขตอำนาจที่กำหนดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ ห้ามมิให้ร้องทุกข์ว่าผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ( พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ มาตรา ๒๕  )

        ประการที่สี่ การร้องทุกข์นั้นต้องร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ที่กระทำให้ตนเดือดร้อน ถ้าไม่แน่ใจว่าเดือดร้อนเพราะใครทำ ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน เพื่อเสนอตามลำดับชั้นไปจนถึงผู้ที่มีอำนาจสั่งการไต่สวนและแก้ไขความเดือดร้อนให้ได้(มาตรา ๒๖ )

        ประการที่ห้า รูปแบบของการร้องทุกข์นั้น อาจร้องทุกข์ด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้ ถ้าร้องทุกข์ด้วยวาจา ผู้รับการร้องทุกข์จะต้องจดข้อความสำคัญของเรื่องที่ร้องทุกข์นั้น แล้วให้ผู้ร้องทุกข์ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน ( มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง ) เช่นเดียวกับการร้องทุกข์เป็นหนังสือ ก็ต้องลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์ด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นผู้บังคับบัญชาไม่มีหน้าที่ต้องพิจารณาคำร้องทุกข์นั้น ( มาตรา ๒๗ ) สรุปก็คือ เงื่อนไขประการหนึ่งของการร้องทุกข์ก็คือ ผู้ร้องทุกข์ต้องแสดงตนด้วยการลงลายมือชื่อ มิใช่เพียงกล่าวโทษลอยๆในลักษณะบัตรสนเท่ห์หรือลักษณะเป็นการฟ้อง บ่นหรือโวยวาย ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นก็คงไม่มีประโยชน์อันใด

        ประการที่หก ถ้าร้องทุกข์ตามเงื่อนไขและขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อผ่านไปสิบห้าวันแล้วเรื่องยังเงียบ ไม่ได้รับคำชี้แจงหรือการแก้ไขความเดือดร้อน ผู้ร้องทุกข์สามารถร้องทุกข์ใหม่ต่อผู้บังคับบัญชาลำดับที่สูงขึ้นไป เช่น ครั้งก่อนร้องทุกข์ต่อผู้บังคับกองร้อยแล้วเรื่องยังเงียบ ผ่านไปสิบห้าวันสามารถร้องทุกข์ใหม่ต่อผู้บังคับกองพันได้ โดยให้ชี้แจงในการร้องทุกข์ครั้งใหม่ด้วยว่า เคยร้องทุกข์ต่อใครมาแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ ( มาตรา ๒๘ )

        หรือหากร้องทุกข์ไปแล้วได้รับการชี้แจงจากผู้บังคับบัญชาที่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้ แต่ผู้ร้องทุกข์ยังไม่หมดความสงสัย ( หรือที่เรียกกันว่ายังไม่เคลียร์ ) ก็สามารถร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปได้อีกเช่นกัน และก็ต้องชี้แจงเช่นเดียวกันว่าได้ร้องทุกข์เรื่องเดียวกันนั้นต่อใคร และได้รับการชี้แจงมาแล้วอย่างไร ( มาตรา ๓๐ ) ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บังคับบัญชาลำดับสูงขึ้นไปที่รับเรื่องร้องทุกข์ได้พิจารณาการดำเนินการในครั้งก่อนๆถูกต้องชอบธรรมเพียงใด

        ประการที่เจ็ด เป็นบทบังคับสำหรับผู้บังคับบัญชาที่รับเรื่องร้องทุกข์ ให้ต้องรีบไต่สวนและจัดการแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ร้องทุกข์ หรือชี้แจงให้ผู้ร้องทุกข์เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ห้ามมิให้เพิกเฉย มิฉะนั้นจะถือเป็นความผิดวินัยทหาร ( มาตรา ๒๙ )
        เช่นเดียวกับผู้ร้องทุกข์ หากร้องทุกข์ด้วยข้อความที่เป็นเท็จ หรือร้องทุกข์ผิดระเบียบที่กล่าวมา ก็ถือเป็นความผิดวินัยทหารด้วยเหมือนกัน ( มาตรา ๓๑ )

        จะเห็นได้ว่าแม้กฎหมายวินัยทหารจะเปิดช่องทางให้ทหารผู้น้อยมีโอกาสร้องทุกข์เพื่อให้มีการแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนได้ก็ตาม แต่การจะร้องทุกข์ในแต่ละครั้งก็ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข มิฉะนั้นจะกลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนมาทำให้ผู้ร้องทุกข์ตกเป็นผู้กระทำผิดวินัยเสียเอง
        ซึ่งจากบทบัญญัติเรื่องการร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น  พ.อ.ธานินทร์  ทุนทุสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองนิติธรรมทหาร กรมพระธรรมนูญ ได้กรุณาสรุปข้อห้ามในการร้องทุกข์ไว้ในบทความ “ การร้องทุกข์ ” ว่ามี ๑๒ ประการที่หากฝ่าฝืนแล้วถือเป็นการร้องทุกข์ที่ผิดระเบียบ ได้แก่
        ๑. ห้ามมิให้ร้องทุกข์แทนผู้อื่นเป็นอันขาด ( มาตรา ๒๓ )
        ๒. ห้ามมิให้ลงชื่อร่วมกันร้องทุกข์ ( กรณีร้องทุกข์เป็นหนังสือ ) ( มาตรา ๒๓ )
        ๓. ห้ามมิให้เข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน กรณีร้องทุกข์ด้วยวาจา ( มาตรา ๒๓ )
        ๔. ห้ามมิให้ประชุมกันเพื่อหารือเรื่องที่จะร้องทุกข์ ( มาตรา ๒๓ )
            **หมายเหตุ ในประเด็นนี้ พ.อ.ธานินทร์ตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นการประชุมหารือในเรื่องอื่นที่มิใช่เรื่องที่จะร้องทุกข์โดยตรง เช่น หารือว่าจะร้องทุกข์อย่างไรให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ เช่นนี้ก็ไม่ถือว่าเป้นข้อห้ามตามบทบัญญัตินี้
        ๕. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ในเวลาที่กำลังเข้าแถว ( มาตรา ๒๔ )
        ๖. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ในขณะกระทำหน้าที่ราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เวลาเป็นเวรยาม ( มาตรา ๒๔ )
        ๗. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ก่อนเวลาล่วงไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมง นับตั้งแต่มีเหตุจะร้องทุกข์เกิดขึ้น ( มาตรา ๒๔ )
       ๘. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ว่าผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชานั้นมิได้ลงทัณฑ์เกินอำนาจที่จะกระทำได้ตามความในหมวด ๓ แห่งพระราบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร
        ๙. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ข้ามชั้นผู้บังคับบัญชา ( มาตรา ๒๖ )
        ๑๐. ห้ามมิให้ร้องทุกข์โดยไม่ลงลายมือชื่อกรณีร้องทุกข์เป็นหนังสือ ( มาตรา ๒๗ )
       ๑๑. ห้ามมิให้ร้องทุกข์ใหม่ เมื่อการร้องทุกข์ครั้งก่อนยังล่วงพ้นไปไม่เกิน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบแล้ว ( มาตรา ๒๘ )
        ๑๒. ห้ามมิให้นำข้อความที่เป็นเท็จมาร้องทุกข์ ( มาตรา ๓๑  )

        นอกจากนี้ ผอ.กองนิติธรรมทหารฯยังได้เพิ่มคำอธิบายในตอนท้ายของบทความว่า การร้องทุกข์สามารถใช้ได้ทั้งในกรณีได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินการทั้งด้านวินัยและมาตรการด้านปกครอง เช่น กรณีกำลังพลถูกผู้บังคับบัญชาพักราชการ ปลดออกจากประจำการ หรือถอดยศทหาร ซึ่งส่งผลให้ไม่มีสภาพความเป็นทหารแล้วก็ตาม แต่กำลังพลผู้นั้นก็ยังสามารถใช้กระบวนการร้องทุกข์ได้  ทั้งนี้เป็นไปตามแนวคิดที่ว่า การร้องทุกข์เป็นกระบวนการหนึ่งที่เป็นเครื่องมือตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมในการดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา

        สำหรับในส่วนการปฏิบัติในการร้องเรียนนั้น หากเป็นการร้องเรียนของประชาชนต่อหน่วยงานทั่วไป การปฏิบัติก็คงไม่มีเงื่อนไขหลักเกณฑ์มากมายนัก เพราะเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตแห่งกฎหมาย  ส่วนในทางทหารนั้นมีขั้นตอนการปฏิบัติในการร้องเรียนโดยคร่าวๆตามคำชี้แจงทหาร ที่ ๒/๗๘๔๐/๒๔๗๖ เรื่อง การร้องเรียน คือ ให้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการแก้ไข หรือทำความเห็นเสนอขึ้นไปจนถึงผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งการเพื่อดำเนินการ

        บันทึกนายทหารพระธรรมนูญฉบับนี้มิได้ต้องการชี้แนะให้ผู้อ่านโดยเฉพาะพี่น้องทหารเป็น “คนหัวหมอ” ที่ไม่พอใจสิ่งใดก็จะเอาแต่หาโอกาสร้องทุกข์หรือร้องเรียนอยู่ร่ำไป         ในขณะเดียวกันก็ไม่ประสงค์จะให้ก้มหน้ารับกรรมในทุกๆสถานการณ์ ในเมื่อมีแนวทางการปฏิบัติที่ชอบธรรมตามกฎหมาย ก็สมควรที่จะเรียนรู้และนำไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อปลดเปลื้องทุกข์ให้สามารถใช้ชีวิตและปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มที่ อันจะส่งผลดีต่อส่วนรวมต่อไป

        

16 ตุลาคม 2558

ความผิดอาญาทหาร ฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา


ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว เรื่อง “ ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา...ข้อหายอดฮิตของทหาร ”ที่กล่าวถึงการขัดคำสั่งผู้บัญชาในลักษณะที่เป็นความผิดทางวินัยไปแล้ว บันทึกนายทหารพระธรรมนูญวันนี้จะกล่าวถึงการขัดคำสั่งในลักษณะที่เป็นความผิดทางอาญาทหาร

ก่อนอื่นต้องรู้ความหมายของ “ คำสั่ง ” ในทางอาญาทหาร ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๔ ให้คำนิยามไว้ว่า “ คำสั่ง หมายถึง บรรดาข้อความที่ผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหารผู้ถืออำนาจอันสมควร เป็นผู้สั่งไปโดยสมควรแก่กาลสมัยและชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย คำสั่งเช่นนี้ท่านว่าเมื่อผู้รับคำสั่งนั้นได้กระทำตามแล้ว ก็เป็นอันหมดเขตของการที่สั่งนั้น ”

ดังนั้น คำสั่ง ในทางอาญาทหาร ที่หากฝ่าฝืนแล้วจะมีเป็นความผิดทางอาญา จะต้องมีลักษณะดังนี้
๑. เป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นสั่งการด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ และในบางสถานการณ์อาจรวมถึงการให้สัญญาณต่างๆที่สื่อความหมายให้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย
๒. เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งการ ( รายละเอียดเรื่องผู้บังคับบัญชาจะนำเสนอในโอกาสต่อไป )
๓. คำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ระเบียบปฏิบัติ ประเพณีนิยมตามสมัยนิยมหรือตามกาละเทศะ
๔. เมื่อผู้รับคำสั่งปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว ก็เป็นอันหมดเขตของการที่สั่งนั้น

พ.อ.ธานินทร์  ทุนทุสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองนิติธรรมทหาร กรมพระธรรมนูญ ได้อธิบายข้อแตกต่างระหว่างคำสั่งทางอาญาทหารกับคำสั่งทางวินัยทหารไว้ในตำรา “ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวินัยทหาร ” ของกรมพระธรรมนูญ ว่า ถ้าคำสั่งใดที่ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้สั่ง และคำสั่งนั้นมีลักษณะถ้าได้กระทำแล้วก็เป็นอันหมดเขตของการสั่งนั้น คือมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด เมื่อผู้ได้รับคำสั่งปฏิบัติตามคำสั่ง ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจที่ได้รับคำสั่ง นั้นแล้ว มิใช่คำสั่งที่มีลักษณะต้องปฏิบัติตลอดไป และเป็นคำสั่งที่มีลักษณะเจาะจง เช่น สั่งให้ใคร ทำอะไร หรือปฏิบัติอย่างไร เช่นนี้ถือเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร แต่ถ้าหากเป็นการสั่งการแก่ทหารทั่วไป มิได้มีลักษณะเฉพาะเจาะจงต่อทหารผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งยังเป็นคำสั่งที่ใช้ได้ตลอดไปโดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด ยกเว้นจะมีการยกเลิก เช่นนี้ถ้ามีการขัดขืนละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งลักษณะดังกล่าว ก็จะเป็นความผิดวินัยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖

ส่วนรองศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ  โชคเหมาะ อาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ตั้งข้อสังเกตลักษณะของ “ คำสั่ง ” ตามประมวลกฎหมายอาญาทหารไว้ในตำราวิชากฎหมายทหาร  ดังนี้
๑. คำสั่งของผู้บังคับบัญชาจะใช้ได้แต่เฉพาะผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนเท่านั้น จะไปใช้กับผู้อื่นซึ่งมิใช่เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาไม่ได้
๒. คำสั่งใดที่ขัดต่อองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่ถือว่าเป็นคำสั่งตามความหมายแห่งบทนิยามตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๔ ผู้ฝ่าฝืนย่อมไม่ต้อรับผิดฐานขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๓๐ หรือ ๓๑ แล้วแต่กรณี ( จะอธิบายต่อไป )

นอกจากนี้ ยังมีคำพิพากษาศาลทหารสูงสุดวางหลักไว้ว่า ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งห้ามมิให้กระทำการใดๆที่มีกฎหมายห้ามไว้อยู่แล้ว เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาฝ่าฝืนก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานขัดคำสั่ง เพราะถือว่าแม้จะมิได้มีคำสั่งนั้นก็ต้องงดเว้นตามกฎหมายอยู่แล้ว ( คำพิพากษาศาลทหารสูงสุดที่ ๑๑/๒๕๐๑ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งห้ามมิให้จำเลยยิงปืนในหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร แม้มิได้มีคำสั่งดังกล่าว จำเลยก็มีหน้าที่ต้องงดเว้นไม่ฝ่าฝืนในเรื่องนี้อยู่แล้ว เมื่อคำสั่งนี้ไม่ปรากฏว่าได้สั่งเพื่อประโยชน์ในราชการตามหน้าที่ของผู้สั่งแต่อย่างใด คำสั่งนี้จึงไม่เป็นคำสั่งตามความหมายของมาตรา ๔ แห่งประมวลกฎหมายอาญาทหาร เมื่อจำเลยขัดขืนไม่กระทำตามจึงไม่เป็นความผิด

สำหรับความผิดฐานขัดคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญาทหารนั้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐ ( ขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามคำสั่ง ) และมาตรา ๓๑ ( ขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่งอย่างองอาจ )

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๐
“ ผู้ใดเป็นทหาร และมันขัดขืนหรือละเลยมิกระทำตามคำสั่งอย่างใดๆ ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุ ดังจะว่าต่อไปนี้ คือ   
   ๑.   ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชศัตรู ท่านให้ลงอาญามันเป็นสามสถาน คือ สถานหนึ่งให้ประหารชีวิตเสีย สถานหนึ่งให้จำคุกจนตลอดชีวิต สถานหนึ่งให้จำคุดตั้งต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี
      ๒.   ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชศัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงครามหรือในเขตซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี
     ๓. ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าห้าปี ”
จากบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามคำสั่ง จะต้องมีองค์ประกอบ คือ
๑. ผู้กระทำเป็นทหาร
    มาตรา ๔ ของประมวลกฎหมายอาญาทหารให้คำนิยามว่าหมายถึงบุคคลที่อยู่ในอำนาจกฎหมายฝ่ายทหาร อันประกอบไปด้วย
   - ทหารกองประจำการ ( พลทหาร )
   - พลทหารประจำการ ( พลอาสาสมัคร )
   - นักเรียนทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ( นักเรียนนายสิบ นักเรียนนายสิบแผนที่ นักเรียนจ่า นักเรียนจ่าอากาศ นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ นักเรียนนายเรืออากาศ ) ที่ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้ว
  - ทหารประจำการ คือ ข้าราชการทหารสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งชั้นประทวนและสัญญาบัตร
๒. การกระทำ คือ ขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่ง หรือ ละเลยไม่กระทำตามคำสั่ง
     - ขัดขืน คือ การไม่ปฏิบัติตาม ไม่ประพฤติตาม ด้วยการแสดงอาการแข็งกระด้าง
     - ละเลย คือ ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติตามคำสั่งให้สำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม หากมีการละเลยก็ถือเป็นการกระทำผิดตามมาตรานี้แล้ว
๓. คำสั่งที่ถูกขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตาม จะต้องมีลักษณะตามที่ได้อธิบายมาแล้ว

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๑
“ ผู้ใดเป็นทหาร และมันขัดขืนหรือละเลยมิกระทำตามคำสั่งอย่างใดๆ โดยมันแสดงความขัดขืนด้วยกิริยาหรือวาจาองอาจต่อหน้าหมู่ทหารถืออาวุธด้วยไซร้ ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุ ดังจะว่าต่อไปนี้ คือ
   ๑.   ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชศัตรู ท่านให้ลงอาญามันเป็นสามสถาน คือ สถานหนึ่งให้ประหารชีวิตเสีย สถานหนึ่งให้จำคุกจนตลอดชีวิต สถานหนึ่งให้จำคุดตั้งแต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี
  ๒.    ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชศัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงครามหรือในเขตซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี
   ๓.    ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสิบปี ”

บทบัญญัตินี้เป็นบทฉกรรจ์ที่เพิ่มโทษจากการขัดคำสั่งในมาตรา ๓๐ เนื่องจากมีพฤติกรรมที่สมควรรับโทษหนักขึ้น คือ มีการแสดงอาการขัดขืนด้วยกิริยาวาจาองอาจ ซึ่งคำๆนี้ตามกฎหมายนี้หมายถึงการแสดงอาการอย่างบ้าบิ่น ก้าวร้าว ซึ่งเป็นกิริยาอาการที่ไม่ดี มิใช่หมายถึงความกล้าหาญ สง่างามตามความหมายทั่วไป และแสดงอาการนั้นต่อหน้าหมู่ทหารถืออาวุธ คือ ต่อหน้าทหารตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปซึ่งแต่ละคนถืออาวุธอยู่ด้วยถ้ามีองค์ประกอบสองข้อนี้เพิ่มขึ้นมาก็ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรานี้

ประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๓๑ นี้มีจุดประสงค์เพื่อต้องการรักษาระเบียบวินัยและความปลอดภัยในสถานการณ์ที่ต้องเข้มงวดและเคร่งครัดเป็นพิเศษ คือ สถานการณ์ที่มีการถืออาวุธเพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ หากมีผู้แสดงอาการขัดขืนในสถานการณ์ดังกล่าวย่อมอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้ายหรือความวุ่นวายขึ้น จึงจำต้องมีบทฉกรรจ์ตามมาตราดังกล่าว

อนึ่ง การขัดคำสั่งด้วยกิริยาอาการตามมาตรา ๓๑ นี้ต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาเท่านั้น ดังนั้น จึงมีเฉพาะพฤติกรรมการขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่งเท่านั้น ไม่รวมถึงการละเลยไม่กระทำตามคำสั่งซึ่งผู้กระทำอาจจะไม่มีเจตนาด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การกระทำตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ จะเป็นความผิดอาญาทหาร แต่ก็เป็นฐานความผิดที่อยู่ใน ๒๑ ฐานความผิดซึ่งผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารอาจพิจารณาให้ลงโทษทางวินัยแทนการดำเนินคดีทางอาญาก็ได้หากท่านเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ ของประมวลกฎหมายอาญาทหาร

แต่ไม่ว่าจะเป็นโทษทางวินัยหรือทางอาญาก็ล้วนเป็นมลทินติดตัวผู้ถูกลงโทษทั้งนั้น ดังนั้น ทางที่ดีก็คือรักษาเนื้อรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยไม่ต้องถูกลงโทษจะดีกว่า ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยอมหลับหูหลับตาปฏิบัติตามคำสั่งไปเสียทุกเรื่อง เพราะที่ผู้เขียนนำเสนอบทความเรื่องนี้ ก็เพื่อให้เป็นความรู้ความเข้าใจถึงองค์ประกอบของความผิด เพื่อที่จะได้สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นจำเลยไม่ว่าจะโดยชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม



ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา....ข้อหายอดฮิตของทหาร


การปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาถือเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของทหาร เพราะสะท้อนถึงความมีวินัยอันเป็นอัตตลักษณ์ประจำวิชาชีพ    ดังนั้นทหารทุกนายจึงจะได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักถึงความสำคัญของคำสั่งผู้บังคับบัญชา และโทษที่เกิดจากการฝ่าฝืน ซึ่งมีตั้งแต่โทษทางวินัยเล็กๆน้อยๆไปจนถึงโทษทางอาญาแบบว่าส่งไปนอนในห้องขัง หรือหนักสุดคือใช้มาตรการทางปกครองปลดออกจากราชการกันเลยก็มี

ผู้เขียนเองก็เช่นเดียวกับทหารคนอื่นๆ ที่ได้ท่องตัวอย่างการกระทำความผิดวินัย ๙ ข้อ ( ตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร มาตรา ๕ ) มาตั้งแต่เป็นนักเรียนทหาร ซึ่งข้อแรกในเก้าข้อนั้นคือ ความผิดฐานดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และได้ยินฐานความผิดนี้บ่อยมากในการใช้เป็นข้อกล่าวหาเพื่อลงโทษแก่กำลังพล ซึ่งมองในแง่บวกก็ถือเป็นบังคับใช้กฎหมายรักษาระเบียบวินัยของทหาร ในขณะเดียวกัน ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง บางครั้งก็ดูเหมือนว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวกลับกลายเป็นเครื่องมือในการเล่นงานกำลังพลอย่างไม่เป็นธรรม หากขาดความรู้ความเข้าใจในการนำมาใช้อย่างถูกต้อง

ดังนั้น บันทึกนายทหารพระธรรมนูญวันนี้จึงขอหยิบยกฐานความผิดนี้มาทำความเข้าใจกันในเบื้องต้

การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชานั้น อาจเป็นความผิดได้ทั้งทางวินัยและทางอาญา
ผิดทางวินัย คือ เป็นความผิดต่อแบบธรรมเนียม แนวทางปฏิบัติอันดีของทหาร ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจพิจารณาลงทัณฑ์ได้ห้าอย่าง คือ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กัก ขัง จำขัง ( ตาม พ.ร.บ.วินัยทหารฯ ซึ่งจะได้อธิบายในโอกาสต่อไป ) หรือถ้าลักษณะการกระทำและผลการกระทำเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรง ก็อาจถึงขั้นถูกใช้มาตรการทางปกครองด้วยการปลดออกจากราชการได้
ผิดทางอาญา คือ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ซึ่งต้องถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมทางทหาร และอาจถูกพิพากษาลงโทษทางอาญาทหาร คือ จำคุก

การขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่จะเป็นความผิดทางวินัย
ตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖ มาตรา ๕ บัญญัติว่า “ วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด
( วรรคสอง ) ตัวอย่างการกระทำความผิดวินัยทหารมีดังต่อไปนี้
( ) ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน.....”

จากบทบัญญัติที่ยกมา พฤติการณ์ที่จะเป็นการกระทำผิดวินัยทหารฐานดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน ตาม พ.ร.บ.วินัยทหารฯ มาตรา ๕ วรรคสอง () จะต้องประกอบด้วย
๑. ลักษณะการกระทำ
    - ดื้อ ขัดขืน คือ การไม่ปฏิบัติตาม ไม่ประพฤติตาม ด้วยการแสดงอาการแข็งกระด้าง
    - หลีกเลี่ยง คือ การไม่ประพฤติปฏิบัติตาม แต่มิได้แสดงออกในทางขัดขืนให้เห็น
    - ละเลย คือ ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติตามคำสั่งให้สำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม

๒. การกระทำตามข้อ ๑ กระทำต่อ “ คำสั่ง ” ซึ่งก็ต้องมาพิจารณากันว่า คำสั่งแบบใดที่หากมีการดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามแล้วจะเป็นความผิดวินัย
    ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งการและประชาสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ บัญญัติถึงคำสั่งทางวินัยทหาร มี ๒ ประเภท คือ คำสั่งทั่วไป คือคำสั่งที่สั่งให้กำลังพลที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนราชการ หรือหน่วยทราบและปฏิบัติโดยทั่วกัน เช่น และคำสั่งเฉพาะ คือคำสั่งที่สั่งให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะปฏิบัติ
   และคำสั่งนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้
   - เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อที่ ๓ ต่อไป
   - เป็นคำสั่งที่เป็นประโยชน์แก่ราชการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา
   - เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ
   - เป็นการสั่งการโดยทั่วไป มิได้เจาะจงแก่คนใดคนหนึ่ง ( ถ้าเจาะจงผู้ปฏิบัติจะเข้าลักษณะของคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญาทหารที่ฝ่าฝืนแล้วเป็นความผิดอาญา ทั้งนี้เป็นคนละลักษณะกับคำสั่งเฉพาะที่กล่าวมาก่อนหน้านี้  )
   - เป็นคำสั่งที่ใช้ได้ต่อเนื่องตลอดไป จนกว่าจะยกเลิก ( ถ้าเป็นคำสั่งที่เมื่อปฏิบัติตามแล้วสิ้นผลบังคับใช้ จะเข้าลักษณะคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ที่ฝ่าฝืนแล้วเป็นความผิดอาญา ดังที่จะอธิบายต่อไป  )

๓. คำสั่งนั้น ต้องเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งการ ( จะอธิบายในบทความเฉพาะเรื่องนี้ต่อไป )

หากครบองค์ประกอบข้างต้น ก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยฐานดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ซึ่งอาจทำให้ถูกพิจารณาลงทัณฑ์หรือใช้มาตรการทางปกครองดังที่กล่าวมาข้างต้น


บันทึกฉบับต่อไปจะกล่าวถึง การขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่จะเป็นความผิดทางอาญา

15 ตุลาคม 2558

ก่อน ( กว่า ) จะมาเป็นนายทหารพระธรรมนูญ

บทความเปิดตัว “บันทึกนายทหารพระธรรมนูญ” บล็อกใหม่ของผู้เขียน หลังผ่านการสอบคัดเลือก ได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติราชการในตำแหน่งนายทหารพระธรรมนูญมาได้ระยะหนึ่ง จึงถือโอกาสในช่วงเวลาเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ เปิดพื้นที่ใหม่สำหรับนำเสนอบทความเพื่อแบ่งปันเรื่องราวการทำงานในฐานะทหารผู้ใช้กฎหมาย   เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจไม่มากก็น้อยหลายท่านคงจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ “ นายทหารพระธรรมนูญ ” ซึ่งบางท่านเรียกเพี้ยนเป็น “นายทหารรัฐธรรมนูญ ” บ้างไม่มากก็น้อย ในขณะที่บางท่านอาจจะรู้จักเพียงผิวเผินหรือไม่รู้จักเลยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก บทความแรกของ “ บันทึกนายทหารพระธรรมนูญ” วันนี้จึงขอแนะนำเส้นทางการทำงานของนายทหารพระธรรมนูญกันก่อน


นายทหารพระธรรมนูญคือใคร

นายทหารพระธรรมนูญ ( นธน.) ก็คือข้าราชการทหารฝ่ายกฎหมายของหน่วย  เทียบได้ประมาณนิติกร ที่ปรึกษากฎหมายขององค์กรหรือหน่วยงานเอกชน และบางครั้งก็อาจจะต้องปฏิบัติงานลักษะเดียวกับทนายความ คือ ว่าความแทนหน่วยหรือคนในหน่วยงานเดียวกับตน หรือบางทีก็ต้องเป็นเหมือนตำรวจในการทำหน้าที่สอบสวนคดีตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ( แต่ไม่ได้ไปไล่จับใครนะครับ เพราะหน้าที่นั้นมีสารวัตรทหาร หรือ สห.เขาทำอยู่แล้ว )

นายทหารพระธรรมนูญจะเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร  คือ มียศตั้งแต่ร้อยตรี ( ทหารบก ) เรือตรี              ( ทหารเรือ ) หรือเรืออากาศตรี ( ทหารอากาศ ) ขึ้นไป เหล่าพระธรรมนูญ สังกัดตามหน่วยทหารต่างๆ อย่างถ้าเป็นกองทัพบกก็ตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หนึ่งกรมมีหนึ่งนาย      โดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแล คือ กรมพระธรรมนูญ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม


นายทหารพระธรรมนูญต้องทำอะไรบ้าง
หน้าที่ทั่วไปของนายทหารพระธรรมนูญ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยนายทหารพระธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๙ หรือเรียกย่อๆว่า ขนธ.๙๙ มีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑. สืบสวนและสอบสวนคดีตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
     “สืบสวน” หมายถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานต่างๆตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ ( ซึ่งปกติทั่วไปจะเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ นายทหารพระธรรมนูญก็มีอำนาจหน้าที่นี้ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ) เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อทราบรายละเอียดของความผิดที่มีผู้กระทำขึ้น
    “ สอบสวน ” หมายถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการอื่นๆของพนักงานสอบสวน ( ซึ่งปกติก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนั่นแหล่ะ ส่วนเจ้าหน้าที่อื่นๆที่จะเป็นพนักงานสอบสวนก็ต้องมีกฎหมายหรือคำสั่งรองรับ ) เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด หรือเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
๒. เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของผู้บังคับบัญชา ซึ่งอาจจะเป็นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง กฎหมายทหาร หรือกฎหมายพิเศษอื่นๆ แล้วแต่สถานการณ์และความจำเป็นที่ผู้บังคับบัญชาต้องการคำปรึกษา
๓. พิจารณาและเสนอความเห็นทางกฎหมาย ทางปกครอง และทางวินัย ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
๔. ในทางวิทยาการ ให้หน่วยทหารพระธรรมนูญหน่วยรองฟังความเห็นนายทหารพระธรรมนูญหน่วยเหนือตามลำดับสายงาน ประมาณว่าผู้อาวุโสน้อยกว่าต้องฟังผู้มีอาวุโสสูงกว่านั่นแหล่ะครับ
๕. นอกจากนี้ให้มีอำนาจและหน้าที่อื่นๆตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และระเบียบซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทหารพระธรรมนูญ ซึ่งอำนาจหน้าที่ข้อนี้แหล่ะครับที่เป็นเสมือน ปลายเปิด ให้หน่วยงานต่างๆสามารถออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กำหนดอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมให้กับนายทหารพระธรรมนูญได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ของเขตและไม่ขัดต่ออำนาจหน้าที่หลักโดยตรงตามที่กล่าวมา


อยากเป็นนายทหารพระธรรมนูญต้องทำอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า คุณสมบัติหลักๆของนายทหารพระธรรมนูญ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยนายทหารพระธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๙ หรือ ขนธ.๙๙ ที่พูดถึงไปเมื่อสักครู่นี้ กำหนดไว้ว่านายทหารพระธรรมนูญต้องมีคุณสมบัติ ๕ ข้อ คือ
๑. เป็นนายทหารสัญญาบัตร อันนี้ไม่ได้หมายความว่าถ้าใครไม่ได้เป็นทหารหรือไม่ใช่นายทหารสัญญาบัตรแล้วจะเป็นนายทหารพระธรรมนูญไม่ได้นะครับ เพราะมีช่องทางการสอบคัดเลือกซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป ซึ่งเมื่อผ่านการสอบคัดเลือกแล้วก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารสัญญาบัตรเพื่อให้มีคุณสมบัติตามข้อแรกนี้
๒. อายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์
๓. สอบความรู้ทางกฎหมายได้ปริญญาตรี หรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
๔. เป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
    คุณสมบัติข้อนี้อาจจะมีบางคนเข้าใจผิดเหมือนที่ผู้เขียนเคยเข้าใจผิดจนเกือบจะพลาดโอกาสสอบมาแล้ว คือ ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนจบเนติฯมาแล้วเท่านั้นที่จะถือว่าเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา แม้จะยังเป็นนักศึกษาอยู่ก็ถือว่าเป็นสมาชิกแล้ว เพราะสมาชิกเนติบัณฑิตยสภานั้นมี ๕ ประเภท คือ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ ภาคีสมาชิก และสมาชิกกิตติมศักดิ์ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วได้รับขึ้นทะเบียนเป็นสามัญสมาชิก ส่วนนักศึกษาถือเป็นสมาชิกประเภทภาคีสมาชิก หรือถ้าเป็นสมาชิกประเภทอื่นๆที่เหลือ ( ดูรายละเอียดได้จากข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.๒๕๐๗ ) ก็ถือว่ามีคุณสมบัติข้อนี้ที่สามารถเป็นนายทหารพระธรรมนูญได้เช่นกัน
๕. มีความประพฤติเหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่นายทหารพระธรรมนูญ
   ข้อนี้ทางกรมพระธรรมนูญได้กำหนดมาตรฐานคุณธรรมและจริยะรรมของนายทหารพระธรรมนูญไว้ ตามประกาศกรมพระธรรมนูญ เรื่อง มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการในสายงานกรมพระธรรมนูญ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พพ.ศ.๒๕๔๙ รายละเอียดจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้อาจมีคุณสมบัติอื่นๆเพิ่มเติมในการที่จะสมัครสอบ ตามที่หน่วยซึ่งจัดสอบจะกำหนด ตัวอย่างเช่น การสอบคัดเลือกเป็นนายทหารพระธรรมนูญในอัตราของกองทัพบกที่ผู้เขียนผ่านการสอบเข้ามานั้น กำหนดว่าผู้สมัครสอบต้องเป็นข้าราชการทหารชั้นประทวนของกองทัพบกที่รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ ปี ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้มาสอบด้วย เป็นต้น  แต่ได้ยินแบบนี้ ผู้อ่านที่เป็นพลเรือนหรือข้าราชการทหารเหล่าทัพอื่นก็ไม่ต้องถอดใจไปนะครับ เพราะการสอบคัดเลือกนายทหารพระธรรมนูญนั้นมิได้มีเฉพาะของกองทัพบกที่เปิดรับเฉพาะข้าราชการทหารประทวนของเหล่าทัพเท่านั้น ยังมีเหล่าทัพอื่นๆที่เปิดรับสมัคร และบางทีก็อาจจะรับสมัครจากบุคคลภายนอก ซึ่งก็คงต้องติดตามข่าวสารการรับสมัครสอบในแต่ละครั้งไป

การสรรหานายทหารพระธรรมนูญ

นการเปิดสอบ หรือที่เรียกกันว่าการสรรหานายทหารพระธรรมนูญนั้น ปกติแล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมพระธรรมนูญ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจะเป็นผู้ดำเนินการสรรหาโดยการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุในอัตราของเหล่าทัพต่างๆโดยพิจารณาจากการเสนอความต้องของเหล่าทัพ แต่ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางโดยให้แต่ละเหล่าทัพเป็นผู้สรรหา ( เปิดสอบ เองโดยความเห็นชอบของกรมพระธรรมนูญ

การเตรียมตัวสอบนั้น ขอบเขตวิชาที่ใช้ในการสอบคัดเลือกก็ขึ้นอยู่กับเหล่าทัพหรือหน่วยที่เปิดสอบ แต่โดยทั่วไปก็หนีไม่พ้นกฎหมายพื้นฐานทั่วไป อันได้แก่กฎหมาย ๔ มุมเมือง ( แพ่ง อาญา วิ.แพ่ง วิ.อาญา ) และกฎหมายที่ต้องใช้หรือต้องรู้ในราชการทหารหรือกระบวนการยุติธรรมทางทหาร เช่น กฎหมายอาญาทหาร กฎหมายศาลทหาร กฎหมายความมั่นคง เป็นต้น 

อย่างการสอบคัดเลือกของกรมพระธรรมนูญเพื่อคัดเลือกนายทหารพระธรรมนูญในอัตราของกองทัพบกในปีที่ผู้เขียนสอบคัดเลือกนั้น วิชาที่สอบประกอบด้วย ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญาทหาร  กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระธรรมนูญศาลทหาร วิชาแบบธรรมเนียมทหาร       กฎหมายความมั่นคง ( พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ , พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ , พ.ร.ก.การปฏิบัติราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ) ระเบียบงานสารบรรณ  และความรู้ทั่วไป ซึ่งก็สามารถหาสืบค้นหาข้อมูลสำหรับเตรียมตัวสอบได้ไม่ยาก จากหนังสือกฎหมายทั่วไป และข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต

การสอบ ( ในการจัดสอบโดยกรมพระธรรมนูญ ) จะมีสอบรอบ คือ รอบแรกสอบภาควิชาการ ( ข้อเขียน/อัตนัย ) และรอบสองสอบปากเปล่าและสอบสัมภาษณ์ โดยมีคณะกรรมการจากกรมพระธรรมนูญเป็นผู้คัดเลือก

หากจะถามถึงความยากง่ายของการสอบ ถ้าผู้เขียนตอบว่าไม่ยากก็อาจทำให้ผู้อ่านหลายท่านหมั่นไส้ ครั้นจะตอบในทางตรงข้ามก็เกรงว่าอาจทำให้หลายคนถอดใจละทิ้งโอกาสในการเข้ารับการสอบคัดเลือก อันจะส่งผลให้วงการพระธรรมนูญอาจจะพลาดโอกาสได้รับคนดีมีความรู้ความสามารถหลายท่านเหล่านั้นเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกครอบครัวทหารนักกฎหมายก็เป็นได้ งั้นผู้เขียนขอแสดงความเห็นแบบกลางๆว่า  มาตรฐานการสอบคัดเลือกของกรมพระธรรมนูญอยู่ในระดับที่สูงพอจะกลั่นกรองผู้ที่มีความรู้เพียงพอเพื่อเข้าไปปฏิบัติงาน แต่ก็มิได้ยากเสียจนพ้นวิสัยของนิติศาสตร์บัณฑิตทั่วไปที่จะผ่านการทดสอบ 

สำหรับในบางปีที่แต่ละเหล่าทัพจัดสอบเอง เช่นปีนี้ที่กรมยุทธศึกษาทหารบก เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลพลเรือนหรือทหารกองหนุนคุณวุฒิปริญญาเข้าเป้นนายทหารสัญญาบัตร ซึ่งมีตำแหน่งนายทหารพระธรรมนูญอยู่ด้วยนั้น ขอบเขตการสอบก็คงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศหรือระเบียบการ ซึ่งมาตรฐานการคัดเลือกก็คงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เพื่อคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาปฏิบัติงานด้านกฎหมายสายทหาร และในส่วนของความรู้ที่จะใช้ในประเมินเพื่อคัดเลือกนั้น ก็น่าจะวนเวียนอยู่ในแนวทางเดียวกับที่กรมพระธรรมนูญเป็นผู้จัดสอบเอง

ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการสอบคัดเลือกทุกคน ขอให้เชื่อมั่นในตนเอง ถ้ามีพื้นความรู้ดี  เตรียมตัวมาดี มีความตั้งใจที่จะเป็นทหารนักกฎหมาย ดาวประดับบ่าและเครื่องหมายพระดุลพ่าห์ ( สัญลักษณ์เหล่าพระธรรมนูญ ) คงไม่ไกลเกินไขว่คว้าแน่นอน