30 พฤศจิกายน 2558

ทบทวนความจำ -- ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๖ การอุทธรณ์ - ฎีกา และการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลทหาร



                        ๑. การอุทธรณ์ – ฎีกา
                       ๑.๑ เมื่อคู่ความหรือผู้มีสิทธิอุทธรณ์ – ฎีกา ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่ง ของศาลทหาร สามารถอุทธรณ์ – ฎีกาคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไปยังศาลทหารชั้นสูงกว่า ดังนี้
                             ๑.๑.๑ อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารชั้นต้นต่อศาลทหารกลาง หรือฎีกาต่อศาลทหารสูงสุดโดยตรง ( อำนาจเพิ่มเติมของศาลทหารสูงสุด แก้ไขเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.ศาลทหารฯ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๕๘ )
                               ๑.๑.๒ ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารกลาง ต่อศาลทหารสูงสุด
                       ๑.๒ ผู้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ – ฎีกา และระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ – ฎีกา ตามแผนภาพ
                       ๑.๓ ข้อห้ามในการอุทธรณ์ – ฎีกา ตามแผนภาพ
                   ๒. การบังคับตามคำพิพากษา
                       ๒.๑ ผู้ที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล คือ ผู้มีอำนาจลงโทษ ตาม พ.ร.บ.ศาลทหารฯ ( มาตรา ๖๕ ) คือ
                             ๒.๑.๑ นายทหารผู้บังคับบัญชาจำเลย ตำแหน่งชั้นผู้บังบัญชาการกองพลหรือเทียบเท่าขึ้นไป    หรือชั้นผู้บังคับกองพันขึ้นไป ในกรณีที่อยู่ต่างถิ่นกับผู้บังคับบัญชาตำแหน่งชั้นผู้บัญชาการกองพล
                             ๒.๑.๒ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งศาลทหารชั้นต้น สั่งลงโทษได้ในกรณีที่จำเลยอยู่ต่างถิ่นกับผู้บังคับบัญชา หรือไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของทหาร
                             ๒.๑.๓ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลประจำหน่วยทหารหรือศาลอาญาศึก สั่งลงโทษตามคำพิพากษาของศาลประจำหน่วยทหารหรือศาลอาญาศึกแล้วแต่กรณี
                       ๒.๒ การดำเนินการบังคับตามคำพิพากษาของศาลทหาร
                             ๒.๒.๑ คำพิพากษาของศาลทหารในเวลาปกติและศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ให้ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษจัดการให้เป็นไปตามคำพิพากษา
                             ๒.๒.๒ คำพิพากษาของศาลพลเรือนที่ทำหน้าที่ศาลทหาร ( นั่งพิจารณา ณ    ศาลพลเรือน  และมีผู้พิพากษาพลเรือนเป็นตุลาการ : ตาม พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๓๗ ) ให้ศาลนั้นบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๔๕ วรรคหนึ่ง คือ เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ภายใต้เงื่อนไขและบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                             ๒.๒.๓ คำพิพากษาของศาลอาญาศึก   หรือศาลที่พิจารราพิพากษาคดีแทนศาลอาญาศึก ให้ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ จัดการให้เป็นไปตามคำพิพากษา เว้นแต่นักโทษประหารที่เป็นหญิงมีครรภ์ ให้รอให้คลอดบุตรก่อนแล้วจึงประหาร

                   ๒.๓ คดีที่มีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต และสามารถอุทธรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ.ศาลทหารฯ ถ้าไม่มีการอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนคดีให้ศาลทหารกลางพิพากษายืนก่อนจึงจะถือว่าคำพิพากษาถึงที่สุด

29 พฤศจิกายน 2558

ทบทวนความจำ - ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๕ การฟ้องคดีและการพิจารณาคดีในศาลทหาร



                    ๑. การฟ้องคดีต่อศาลทหาร
                       ๑.๑ ผู้มีอำนาจฟ้องคดี ได้แก่
                             ๑.๑.๑ ผู้เสียหาย คือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร จึงจะมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ถ้าผู้เสียหายเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร หรืออยู่ในอำนาจศาลทหารแต่ต้องฟ้องคดีต่อศาลทหารเวลาไม่ปกติ ต้องมอบคดีให้อัยการทหารทหารเป็นผู้ฟ้อง
                             ๑.๑.๒ อัยการทหาร
                             ๑.๑.๓ ผู้เสียหายและอัยการทหาร ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหารในเวลาปกติ
                       ๑.๒ การดำเนินการในการฟ้อง
                             ๑.๒.๑ ถ้าอัยการทหารพิจารณาเห็นว่า คดีที่จะฟ้องนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร สามารถส่งคดีไปให้พนักงานอัยการ ( อัยการพลเรือน ) ดำเนินคดีในศาลยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปได้ โดยเมื่อพนักงานอัยการรับคดีไปแล้ว จะส่งย้อนกลับมาให้อัยการทหารไม่ได้
                             ๑.๒.๒ การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
                                      ๑.๒.๒.๑ ผู้เสียหายที่ฟ้องคดี ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ศาลทหารบังคับทางแพ่ง ( เช่น เรียกร้องค่าเสียหาย ) ถ้าจะเรียกร้องต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งต่างหาก  
                                      ๑.๒.๒.๒ อัยการทหาร มีอำนาจฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต่อศาลทหาร โดยร้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนทรัพย์สิน ใช้ราคาทรัพย์ หรือใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่รัฐบาล ( รวมถึงหน่วยงานนิติบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เช่น กองทัพ เป็นต้น )
                   ๒. การพิจารณาคดี
                       ๒.๑ การแต่งทนายว่าความในศาลทหาร
                             ๒.๑.๑ ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ฟ้องคดี สามารถแต่งทนายว่าความในศาลทหารในเวลาปกติได้ ( เพราะในศาลทหารในเวลาไม่ปกติต้องมอบให้อัยการทหารดำเนินคดีอยู่แล้ว ) ส่วนจำเลยสามารถแต่งทนายว่าความได้ในศาลทหารในเวลาปกติและศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
                             ๒.๑.๒ การตั้งทนายให้จำเลย ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๖ )
                                     ๒.๑.๒.๑ ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง ๑๐ ปีขึ้นไป ศาลต้องถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย
                                    ๒.๑.๒.๒ ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกมากกว่า ๕ ปี แต่ไม่ถึง ๑๐ ปี ถ้าจำเลยแถลงว่าจำเลยยากจน และต้องการทนาย ให้ศาลจัดหาทนายให้จำเลย ( หมายความว่า กรณีหลังนี้จำเลยต้องเป็นผู้เสนอความต้องการเอง )
                            ๒.๑.๓ ทนายความที่จะว่าความในศาลทหารได้ จะต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมายทนายความและตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด และได้รับอนุญาตจากศาลให้ว่าความได้ ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๕ วรรคสาม )
                            ๒.๑.๔ ศาลอาญาศึก ไม่อนุญาตให้ศาลแต่งทนาย ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๕ )

                       ๒.๒ การยื่นเรื่องราวขอโอนคดี ในกรณีที่มีเหตุผลที่อาจขัดขวางหรือไม่สะดวกในการดำเนินคดี หรือไม่สามารถดำเนินคดีในศาลท้องถิ่นได้ โจทก์หรือจำเลยสามารถยื่นเรื่องราวต่อศาลขอให้โอนคดีไปยังศาลทหารแห่งอื่น เมื่อศาลทหารสูงสุดอนุญาตก็สามารถโอนได้ โดยถือเป็นคำสั่งอันถึงที่สุด ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๗ )
                       ๒.๓ ศาลทหารมีอำนาจส่งประเด็นไปให้ศาลทหารแห่งอื่นหรือศาลพลเรือนให้สืบพยานเพิ่มเติมได้ ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๘ )
                          ๒.๔ ในกรณีจำเลยรับสารภาพและไม่ติดใจรับฟังการพิจารณาและสืบพยาน ศาลจะไม่พิจารณาและสืบพยานต่อหน้าจำเลยก็ได้ ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๕๙ )

                       ๒.๕ หากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาของศาล แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ซึ่งปกติจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องโจทก์นั้น แต่หากเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด เช่น เวลา สถานที่กระทำผิด หรือแตกต่างกันในลักษณะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ใกล้เคียงกัน หรือแตกต่างกันระหว่างการกระทำโดยเจตนากับการกระทำโดยประมาท ข้อแตกต่างเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในสาระสำคัญที่ศาลจะยกเป็นเหตุผลในการยกฟ้องโจทก์ได้ ( คือศาลจะยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าข้อเท็จจริงในฟ้องแตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาในเรื่องต่างๆที่กล่าวมานี้ไม่ได้ ) ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๖๐ )

28 พฤศจิกายน 2558

ทบทวนความจำ --ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๔ หลักทั่วไปในการพิจารณาความของศาลทหาร การควบคุม การสอบสวน

             
                 ๑. การพิจารณาความในศาลทหารนั้น จะนำเอากฎ ข้อบังคับ ที่ออกตามกฎหมายฝ่ายทหารมาใช้ในการพิจารณา หากไม่มีกฎ ข้อบังคับเช่นว่านั้นที่จะนำมาใช้ได้ ก็จะนำเอาบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ( กฎหมายพลเรือน ) มาปรับใช้โดยอนุโลม ถ้าไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะปรับใช้ได้ ก็จะนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาปรับใช้ เท่าที่จะใช้ได้
                   ๒. การควบคุมผู้ต้องหาในกรณีพิเศษ ( มาตรา ๔๖ ) ที่แก้ไขเพิ่มตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร ( ฉบับที่ ๘ ) พ.ศ.๒๕๕๘
                       ๒.๑ คำว่า “กรณีพิเศษ” คือ เมื่อมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นๆที่ทำให้ไม่อาจร้องขอให้ศาลสั่งขังผู้ต้องหาในคดีนั้นๆได้
                       ๒.๒ ผู้ต้องหาที่จะถูกควบคุมในกรณีพิเศษตามมาตรานี้ คือ บุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งกระทำความผิดอาญา ไม่ว่าคดีอาญานั้นจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารหรือไม่ก็ตาม
                       ๒.๓ ผู้ที่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาในกรณีพิเศษตามมาตรานี้ คือ
                             ๒.๓.๑ ผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหา ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการกองพลขึ้นไป
                             ๒.๓.๒ ผู้บังคับบัญชาที่มีอาวุโสสูงสุดในพื้นที่ ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒.๓.๑ หรือผู้ต้องหาอยู่ต่างถิ่นกับผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒.๓.๑
                       ๒.๔ กรอบระยะเวลาการควบคุมตัวผู้ต้องหาในกรณีพิเศษตามมาตรานี้
                             ๒.๔.๑ ในความผิดลหุโทษ สามารถควบคุมตัวได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ
                             ๒.๔.๒ ในความผิดที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ควบคุมได้ไม่เกิน ๗ วัน
                             ๒.๔.๓ ในความผิดที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกเกิน ๖ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๐ ปี  ปรับเกิน ๕๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ควบคุมได้ไม่เกิน ๔๘ วัน
                             ๒.๔.๔ ในความผิดที่มีอัตราโทษอย่างจำคุกตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ควบคุมได้ไม่เกิน ๘๔ วัน
                       ๒.๕ การควบคุมผู้ต้องหาในกรณีพิเศษตามมาตรานี้ ถือเป็นการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                   ๓. การสอบสวน
                       ๓.๑ ผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ประกอบด้วย
                             ๓.๑.๑ นายทหารพระธรรมนูญ
                             ๓..๑.๒ อัยการทหาร มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ผู้มีหน้าที่สอบสวน ทำการสอบสวนเพิ่มเติม 
                             ๓.๑.๓ นายทหารสัญญาบัตรของหน่วย มีอำนาจหน้าที่สอบสวนตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
                             ๓.๑.๔ พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                       ๓.๒ การสอบสวนของบุคคลตามข้อ ๓.๑ ถือเป็นการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

27 พฤศจิกายน 2558

ทบทวนความทรงจำ -- ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๓ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับศาลทหาร

             

               ๑. บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร  พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ มี ๘ ประเภท คือ
                       ๑.๑ นายทหารสัญญาบัตรประจำการ
                       ๑.๒ นายทหารสัญญาบัตรนอกประจำการ เฉพาะความผิดต่อคำสั่ง ข้อบังคับ ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
                       ๑.๓ นายทหารประทวน ทหารกองประจำการ   บุคคลที่รับราชการทหารตามกฎหมายรับราชการทหาร
                       ๑.๔ นักเรียนทหาร ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ( เช่น นนร. , นนส. , นจอ. เป็นต้น)
                       ๑.๕ ทหารกองเกินที่ถูกเรียกเข้ากองประจำการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับตัวไว้แล้ว
                       ๑.๖ พลเรือนที่อยู่ในสังกัดราชการทหาร ( เช่น ลูกจ้าง ) เฉพาะความผิดในหน้าที่ราชการ และความผิดที่กระทำในอาคารที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน ที่พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
                       ๑.๗ บุคคลที่ต้องขัง หรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย
                       ๑.๘ เชลยศึก ชนชาติศัตรู ที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
                   ๒. ตุลาการศาลทหาร ( ผู้พิจารณา พิพากษาคดีในศาลทหาร )
                       ๒.๑ ตุลาการศาลทหาร แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
                             ๒.๑.๑ ตุลาการพระธรรมนูญ จะมีประจำอยู่ทุกศาล โดยมีจำนวนและชั้นยศแตกต่างกันไปในแต่ละศาล ( ดังที่จะกล่าวต่อไป )    คุณสมบัติทั่วไปตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยตุลาการพระธรรมนูญ คือ เป็นนายทหารสัญญาบัตรอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตหรือเทียบเท่า เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา    รับราชการหรือปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ด้านกฎหมายมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปี หรือเคยเป็นตุลาการศาลทหารมาก่อน    และมีความประพฤติเหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ตุลาการพระธรรมนูญ
                             ๒.๑.๒ ตุลาการที่ไม่ใช่ตุลาการพระธรรมนูญ ( หรือเรียกว่าตุลาการร่วม ) คือตุลาการที่เป็นนายทหารสัญญาบัตรที่จะร่วมพิจารณาในองค์คณะตุลาการ โดยต้องมียศไม่ต่ำกว่ายศของจำเลยที่มียศสูงสุดในขณะฟ้อง ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๓๒ )
                             ๒.๑.๓ ตุลาการสำรอง คือ ตุลาการที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งฯ ให้เป็นตุลาการสำรอง จะปฏิบัติหน้าที่เมื่อตุลาการตัวจริงไม่สามารถนั่งพิจารณาครบองค์คณะ ตุลาการสำรองก็จะนั่งเป็นตุลาการเพื่อให้ครบองค์คณะโดยมีอำนาจหน้าที่เหมือนตุลาการตัวจริง ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๓๔ )
                       ๒.๒ การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลทหาร จะมี ๒ ลักษณะ คือ
                             ๒.๒.๑ ตุลาการนายเดียว มีอำนาจหน้าที่ในการออกหมายเรียก หมายอาญา หมายสั่งให้ส่งคนมาจากจังหวัดอื่น หรือส่งไปยังจังหวัดอื่น , อำนาจออกคำสั่งที่มิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี และถ้าตุลาการนายเดียวนั้นเป็นตุลาการพระธรรมนูญ มีอำนาจไต่สวนหรือสืบพยานได้ 
                             ๒.๒.๒ องค์คณะตุลาการ คือ ตุลาการที่จะร่วมกันพิจารณาพิพากษาคดีในศาลทหาร ซึ่งมีจำนวน ชั้นยศ และการแต่งตั้ง ดังนี้
                                      ๒.๒.๒.๑ ในศาลจังหวัดทหาร ในอดีต ผบ.จทบ.จะเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการศาลจังหวัดทหาร ๓ นาย ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ ๑ นาย  ( ชั้นยศ ร.ต.ขึ้นไป ) และนายทหารสัญญาบัตร ๒ นาย ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๒๖ ) แต่ปัจจุบันได้มีการแบ่งเขตอำนาจใหม่ ตาม พ.ร.ก.กำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหาร ทำให้อำนาจพิจารณาคดีอยู่ในอำนาจของศาลมณฑลทหารทั้งหมดแล้ว
                                      ๒.๒.๒.๒ ศาลมณฑลทหาร, ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจำหน่วยทหาร มีตุลาการ ๓ นาย ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ ๑ นาย ( ชั้นยศ ร.ต.ขึ้นไป ) และนายทหารสัญญาบัตร ๒ นาย ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯมาตรา ๒๗ ) โดยมีผู้แต่งตั้ง ดังนี้
                                                ๒.๒.๒.๒.๑ ผบ.มทบ. มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลมณฑลทหาร
                                                ๒.๒.๒.๒.๒ รมว.กห.มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหารกรุงเทพ
                                                ๒.๒.๒.๒.๓ ผบ.หน่วยทหาร มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลประจำหน่วยทหาร
                                      ๒.๒.๒.๓ ศาลทหารกลาง มีตุลาการ ๕ นาย       ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ ๒ นาย ( ชั้นยศ พ.ต. , น.ต. , พ.อ.ต. ขึ้นไป ) ,     นายทหารสัญญาบัตรชั้นยศนายพัน ๑ หรือ ๒ นาย และนายทหารสัญญาบัตรชั้นยศนายพล ๑ หรือ ๒ นาย โดย รมว.กห.จะกราบบังคมทูลถวายรายชื่อ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตุลาการดังกล่าว
                                      ๒.๒.๒.๔ ศาลทหารสูงสุด มีตุลาการ ๕ นาย      ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ ๓ นาย ( ชั้นยศ พันเอกพิเศษ หรือนายพลขึ้นไป  ) นายทหารสัญญาบัตรชั้นยศนายพล ๒ นาย โดย รมว.กห.จะกราบบังคมทูลถวายรายชื่อ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตุลาการดังกล่าว


                   ๓. บุคคลการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับศาลทหาร ได้แก่ อัยการทหาร จ่าศาลทหาร และนายทหารพระธรรมนูญ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยอัยการทหารฯ , ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยจ่าศาลฯ และ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยนายทหารพระธรรมนูญฯ       และผู้เขียนจะได้นำเสนอรายละเอียดในโอกาสต่อไปครับ

26 พฤศจิกายน 2558

ทบทวนความจำ -- ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๒ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติและศาลอาญาศึก

                   ต่อจากบทความที่แล้ว " ทบทวนความทรงจำ - ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๑ ภาพรวมศาลทหาร " วันนี้เรามาทบทวนความจำและ/หรือทำความรู้จักกับศาลทหารในเวลาไม่ปกติและศาลอาญาศึกกันครับ   
              
             ๑. เมื่ออยู่ในเวลาไม่ปกติ คือ มีการรบ ประกาศสงคราม หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก      ศาลทหารในเวลาปกติก็ยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้เหมือนเดิม  แต่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก        หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีอำนาจที่จะสั่งการให้ศาลทหารในเวลาปกติ เป็น “ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ” ได้
                   ๒. ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
                       ๒.๑ มีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีเช่นเดียวกับศาลทหารในเวลาปกติ และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ เช่น คดีเกี่ยวกับความมั่นคง คดีพิเศษอื่นๆ ที่ผู้มีอำนาจฯประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
                       ๒.๒ ให้นำบทบัญญัติที่ใช้กับศาลทหารในเวลาปกติ มาปรับใช้กับศาลทหารในเวลาไม่ปกติโดยอนุโลม ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๓๘ )
                       ๒.๓ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหาร สามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาพลเรือนเป็นตุลาการในศาลทหาร และสามารถแต่งตั้งพนักงานอัยการ   จ่าศาลพลเรือน ทำหน้าที่อัยการทหารและจ่าศาลทหารได้ ( พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๓๗ ) เรียกว่าเป็นการให้ศาลพลเรือนทำหน้าที่ดังศาลทหาร
                       ๒.๔ เมื่อหมดภาวะเวลาไม่ปกติแล้ว ถ้ามีคดีที่พิจารณาค้างอยู่ในศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ศาลฯก็สามารถพิจารณาพิพากษาคดีนั้นให้เสร็จสิ้นต่อไป หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการทหารหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจสั่งให้โอนคดีหรือส่งตัวผู้ต้องหาไปให้ศาลทหารแห่งอื่นได้ โดยศาลทหารที่รับโอนคดีหรือรับตัวผู้ต้องหานั้น จะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
                   ๓. ศาลอาญาศึก
                       ๓.๑ จัดตั้งขึ้นสำหรับหน่วยทหาร เรือรบ ซึ่งอยู่ในยุทธบริเวณ   มีตุลาการศาลเป็นนายทหารสัญญาบัตร ๓ นาย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผู้บังคับบัญชาสูงสุด ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังทหารไม่ต่ำกว่า ๑ กองพัน หรือแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการเรือ ป้อม หรือที่มั่นอย่างใดๆในพื้นที่นั้น
                       ๓.๒ ศาลอาญาศึก มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง ซึ่งกระทำผิดในเขตอำนาจ ( คือในพื้นที่ยุทธบริเวณที่จัดตั้งศาลอาญาศึกนั้น ) โดยไม่จำกัดบทกฎหมายและตัวบุคคล
                        ๓.๓ เมื่อหมดภาวะเวลาไม่ปกติแล้ว ถ้ามีคดีที่พิจารณาค้างอยู่ในศาลอาญาศึก ศาลฯก็สามารถพิจารณาพิพากษาคดีนั้นให้เสร็จสิ้นต่อไม่ หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการทหารหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจสั่งให้โอนคดีหรือส่งตัวผู้ต้องหาไปให้ศาลทหารแห่งอื่นได้ โดยศาลทหารที่รับโอนคดีหรือรับตัวผู้ต้องหานั้น จะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับศาลอาญาศึก


25 พฤศจิกายน 2558

ทบทวนความทรงจำ - ทำความรู้จัก ( เผื่อคุณจะรัก ) ศาลทหาร : ตอนที่ ๑ ภาพรวมศาลทหาร

                

                ๑. ศาลทหาร สังกัดกระทรวงกลาโหม  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบดูแลงานด้านธุรการ และเป็นผู้อนุมัติให้เจ้ากรมพระธรรมนูญวางระเบียบราชการของศาลทหารและอัยการทหาร ในการปฏิบัติงานพิจารณาคดี การทำคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งเป็นอำนาจของศาลทหารโดยตรง ทั้งนี้บรรดาระเบียบราชการที่เจ้ากรมพระธรรมนูญกำหนด ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย
                   ๒. ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษา ลงโทษบุคคลต่อไปนี้
                       ๒.๑ บุคคลที่อยู่ในศาลทหาร ซึ่งมีอยู่ ๘ ประเภท ในกรณีที่บุคคลเหล่านี้กระทำผิดกฎหมายอาญาทหาร หรือกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญา
                       ๒.๒ บุคคลทั่วไปที่กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลทหาร
                   ๓. ข้อยกเว้น คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร
                       ๓.๑ คดีที่ทหารกระทำผิดร่วมกับพลเรือนหรือบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
                       ๓.๒ คดีที่พัวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
                       ๓.๓ คดีที่ต้องดำเนินการในศาลเยาวชนและครอบครัว ( คดีเด็ก เยาวชน และครอบครัว )
                       ๓.๔ คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
                   ๔. ศาลทหารแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
                       ๔.๑ ศาลทหารในเวลาปกติ มี ๓ ระดับ คือ
                             ๔.๑.๑ ศาลทหารชั้นต้น แบ่งเป็น
                                      ๔.๑.๑.๑ ศาลทหารกรุงเทพ มีเขตอำนาจไม่จำกัดพื้นที่ ( แต่ในพื้นที่ที่มีศาลทหารอื่นตั้งอยู่ก็ต้องเป็นอำนาจพิจารณาของศาลนั้น ) มีอำนาจพิจารณาคดีทุกตัวบทกฎหมาย ไม่จำกัดยศจำเลย
                                      ๔.๑.๑.๒ ศาลมณฑลทหาร จะมี ๑ ศาลต่อ ๑ มณฑลทหาร ตั้งอยู่ ณ จังหวัดที่ตั้งมณฑลทหาร มีเขตอำนาจตามที่ประกาศใน พ.ร.ก.ฯ ( ปัจจุบันคือ พ.ร.ก.กำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหาร พ.ศ.๒๕๕๘ ) มีอำนาจพิจารณาคดีทุกตัวบทกฎหมายที่จำเลยมียศต่ำกว่าชั้นนายพล
                                      ๔.๑.๑.๓ ศาลจังหวัดทหาร ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกและแบ่งเขตอำนาจใหม่ ตาม พ.ร.ก.กำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหาร พ.ศ.๒๕๕๘
                                       ๔.๑.๑.๔ ศาลประจำหน่วยทหาร จัดตั้งสำหรับหน่วยทหารที่ไปปฏิบัติราชการนอกราชอาณาจักร โดยมีกำลังพลไม่น้อยกว่า ๑ กองพัน มีเขตอำนาจเหนือบุคคลที่สังกัดหน่วยทหารนั้นๆ โดยไม่จำกัดพื้นที่
                             ๔.๑.๒ ศาลทหารกลาง มีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารชั้นต้น ปัจจุบันตั้งอยู่ที่กรมพระธรรมนูญ กทม.
                                        ๔.๑.๓ ศาลทหารสูงสุด มีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา คำสั่งของศาลทหารกลาง และคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นขึ้นมาโดยตรง ( แก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร ( ฉบับที่ ๘ ) พ.ศ.๒๕๕๘ ) ปัจจุบันตั้งอยู่ที่กรมพระธรรมนูญ กทม.
                       ๔.๒ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
                       ๔.๓ ศาลอาญาศึก

                       สำหรับศาลทหารในเวลาไม่ปกติและศาลอาญาศึกนั้นเราจะมาทำความรู้จักกันในตอนต่อไปครับ

11 พฤศจิกายน 2558

( ทหาร )ทำผิดแล้วไปไหน?

                   หลายปีก่อน สมัยผู้เขียนเริ่มรับราชการเป็นนายสิบใหม่ มีรุ่นพี่นายสิบอาวุโสนายหนึ่งมักจะท่องกลอนบทหนึ่งที่แกเรียกว่าเป็น “บทกวีขี้เมา” ให้ฟังจนผู้เขียนจำได้แม่นยำ
                   “ คุกตะรางสร้างไว้อย่างแน่นหนา      
                      เพียงเพื่อขังหมูหมาก็หาไม่
                     ใช่เพียงขังคนชั่วโดยทั่วไป                     
                     คนธรรมดาก็ ( ถูก )ขังได้ ถ้า............”
                   ช่องว่างที่เว้นไว้ คือสาเหตุบางประการที่จะทำให้ทหารถูก “ สั่งขัง” ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี

                  บทกลอนดังกล่าวทำให้ผู้เขียนฉุกคิดขึ้นมาในตอนนั้นว่า คุกหรือห้องขัง ( ทางทหาร ) คือปลายทางอย่างเดียวสำหรับทหารที่กระทำผิด หรือถูกกระทำความผิดกระนั้นหรือ เพราะจากบทกลอนสะท้อนแนวคิดของนายสิบอาวุโสคนดังกล่าว ประกอบกับการได้เห็นเพื่อนร่วมงานบางคนถูก “สั่งขัง” เป็นว่าเล่น ก็เกือบจะทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆในตอนนั้น
                   จนกระทั่งผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษากฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายทหาร ทำให้ได้รับการไขข้อข้องใจว่า แท้จริงแล้ว ชะตากรรมของทหารที่กระทำผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้น มิใช่เพียงแต่จะถูกส่งไปนอนในพื้นที่ควบคุมของทหารตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีเส้นทางและกระบวนการดำเนินการโดยทางอื่นนอกเหนือจากการพิจารณาลงทัณฑ์โดยผู้บังคับบัญชาที่บางครั้งก็ไม่มีหลักประกันความเป็นธรรมเท่าที่ควร ซึ่งผู้เขียนได้ทำเป็นแผนผังเพื่อความเข้าใจตามที่แนบท้ายบทความนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทหารที่กระทำผิดจะถูกแยกดำเนินการตามลักษณะความผิด ๔ ประเภทหลักๆ ได้แก่

             ๑. กรณีทหารกระทำผิดวินัยทหาร
             ๒. กรณีทหารกระทำผิดอาญา ซึ่งแยกย่อยออกเป็น กระทำผิดอาญาทหาร และกระทำผิดอาญาตามกฎหมายบ้านเมือง
              ๓. กรณีทหารกระทำผิดทางแพ่ง
            ๔. กรณีทหารกระทำผิดตามกฎหมายปกครอง ( กระทำผิดในฐานะเจ้าพนักงาน )

                   กรณีแรก เมื่อทหารกระทำผิดวินัยทหาร
                เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมากที่สุดทหาร อาจเรียกได้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ทหารคนใดจะไม่เคยกระทำผิดวินัยทหาร เพราะวินัยทหารเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับทหารในฐานะที่เป็นเสมือนเครื่องมือควบคุมให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยอันเป็นอัตตลักษณ์ประการหนึ่งของสังคมทหาร เฉกเช่นเดียวกับหลักศีลธรรมทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่กำหนดขึ้นเพื่อกำกับดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมพลเรือน
                   การกระทำผิดวินัยทหารก็เช่นเดียวกับการทำผิดหลักศีลธรรมหรือขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม  ที่มีตั้งแต่ความผิดเล็กๆน้อยๆซึ่งผู้กระทำผิดอาจเพียงได้รับการตักเตือนหรือคาดโทษ เพื่อมิให้กระทำการเช่นนั้นอีก  ไปจนถึงความผิดบางประการที่หนักหนาสาหัสต้องลงโทษสถานหนักเพื่อให้เข็ดหลาบและมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่กำลังพลอื่นๆ รวมไปถึงการกระทำความผิดอาญาทหารบางประการที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ก็อาจจะพิจารณาให้ถือเป็นความผิดวินัย และดำเนินการทางวินัยแทนการดำเนินคดีในศาลได้ ( ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๘ )
                   การดำเนินการต่อทหารที่กระทำผิดวินัย จะไปตามดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา ประกอบหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖ ที่กำหนดแนวทางทั่วไปโดยกว้างๆในการพิจารณาเพื่อดำเนินการ เช่น ลักษณะการกระทำที่อาจถือเป็นความผิดวินัย       ขอบเขตอำนาจและวิธีการลงทัณฑ์สำหรับผู้กระทำผิด แนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
                   กระบวนการดำเนินการจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการกระทำความผิด  ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้นได้กระทำผิดจริง อันจะเป็นการป้องกันมิให้มีการลงทัณฑ์โดยไม่เป็นธรรมหรือลงทัณฑ์แก่ผู้ที่ไม่มีความผิดชัดเจน ( พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯมาตรา ๑๓ ) โดยปกติจะใช้วิธีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด ซึ่งสามารถใช้สำนวนการสอบสวนเป็นหลักฐานในการดำเนินการได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มิได้มีบทบังคับว่าทุกครั้งจะต้องมีการสอบสวนก่อนเท่านั้นจึงจะสามารถลงทัณฑ์ได้ ในกรณีที่มีหลักฐานอื่นๆที่แสดงให้เห็นว่าปรากฎความผิดชัดเจน ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องมีการสอบสวน
                   เมื่อได้ผลการพิจารณาถ้วนถี่แล้วว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดจริง ก็จะได้รับผลแห่งการกระทำใน ๒ ลักษณะ ( อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง ) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯมาตรา ๗ คือ
                   ประการแรก ถูกพิจารณาลงทัณฑ์โดยผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจพิจารณาลงทัณฑ์ในชั้นต่างๆ ตามที่ระบุไว้ตามมาตรา ๑๐ , ๑๑  แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ        โดยรูปแบบการลงทัณฑ์จะกระทำได้ ๕ ลักษณะ  ( พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯมาตรา ๘ , ๙ ) ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ( คาดโทษ,ทำทัณฑ์บน ) ทัณฑกรรม ( ให้ทำงานอื่นๆเพิ่มเติมจากหน้าที่ประจำ ) กัก ( จำกัดบริเวณให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด )  ขัง ( ควบคุมตัวในห้องขังทหารหรือพื้นที่ที่กำหนด ) และจำขัง ( ฝากขังในเรือนจำทหาร ) โดยมีขอบเขตการลงทัณฑ์ของผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ในแต่ละระดับชั้นตามตารางกำหนดอำนาจการลงทัณฑ์ท้าย พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ ถ้าหากมีการลงทัณฑ์เกินขอบเขตอำนาจ หรือกระทำในรูปแบบอื่นๆนอกเหนือจาก ๕ ลักษณะที่กำหนด เช่น มีการลงมือทำร้ายร่างกาย แกล้งประจานให้ได้รับความอับอายหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ถือว่าเป็นการลงทัณฑ์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ
                   ประการที่สอง การดำเนินการทางปกครอง ด้วยการปลดออกกจากประจำการ หรือถูกถอดจากยศทหาร
                   - การปลดออกจากประจำการ ใช้ในกรณีผู้กระทำความผิดหรือมีลักษณะตามที่ระบุในคำสั่ง ทบ.ที่ ๑๗๖/๒๕๐๘ ลง ๑๐ มิ.ย.๒๕๐๘ เรื่อง การหมุนเวียนกำลังพล ซึ่งข้อ ๑ ของคำสั่งดังกล่าวระบุพฤติการณ์ ๑๑ ประการของข้าราชการที่หากกระทำจะต้องถูกปลดออกจากราชการทันที เช่น ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ( เป็นความผิดวินัยอย่างหนึ่ง ) จนเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการเป็นอันมาก ประมาทเลินเล่อในหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการเป็นอันมาก , ขาด – หนีราชการ เป็นต้น
                   -  การถอดยศทหาร ใช้สำหรับผู้ที่มีพฤติการณ์หรือลักษณะตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ.๒๕๐๗  ซึ่งมีหลายประการที่เป็นลักษณะเดียวกับพฤติการณ์ที่จะต้องปลดออกจากราชการทันทีตามคำสั่ง ทบ.ที่ ๑๗๖/๒๕๐๘ ซึ่งกล่าวไว้ข้างต้น เช่น ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หนีราชการทหารในเวลาประจำการ ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นต้น ดังนั้น ผู้กระทำผิดวินัยถึงขั้นถูกปลดจากราชการแล้วก็มักจะถูกถอดยศทหารด้วย เว้นเสียแต่ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมที่กล่าวถึงจะมิได้บัญญัติไว้ว่าต้องถอดยศด้วย 
                   นอกจากนี้ผู้กระทำผิดวินัยยังอาจถูกดำเนินการโดยมาตรการทางปกครองอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การสั่งพักราชการ ( ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ.๒๕๐๘ ) การตัดหรืองดจ่ายเงินเดือน ( ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการตัด งด และจ่ายเงินเดือน พ.ศ.๒๕๐๔ ) เป็นต้น

                   กรณีที่สอง เมื่อทหารกระทำความผิดอาญา
                   การกระทำความผิดอาญา หมายถึง การกระทำผิดกฎหมายที่บัญญัติบทลงโทษทางอาญา เช่น โทษจำคุก โทษปรับ โทษประหารชีวิต ซึ่งสำหรับทหารแล้ว มีกฎหมายอาญาที่บังคับใช้อยู่สองประเภท คือ กฎหมายอาญาทหาร และกฎหมายอาญาทั่วไป ซึ่งหากทหารกระทำความผิดในแต่ละกลุ่มแล้วจะมีรายละเอียดกระบวนการดำเนินการที่แตกต่างกันไป ดังนี้
                   ๑. การกระทำความผิดอาญาทหาร ตามฐานความผิดต่างๆที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๑๓ – ๕๐ และมาตรา ๕๒  ๕๒ ผู้กระทำผิด ( ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตาม พ.ร.บ.ศาลทหาร มาตรา ๑๖ ) ต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร โดยเริ่มจากการสอบสวนโดยผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทหาร ได้แก่ อัยการทหาร นายทหารพระธรรมนูญ  นายทหารสัญญาบัตรที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสอบสวน หรือพนักงานสอบสวน ( ตำรวจ ) ก่อนจะรวบรวมสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการทหารเป็นผู้พิจารณายื่นฟ้องคดีต่อศาล จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งจะพิจารณาตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับซึ่งออกตามกฎหมายฝ่ายทหาร หากไม่มีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับทางทหารที่จะปรับใช้ได้ ก็จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ( กฎหมายพลเรือน ) มาปรับใช้โดยอนุโลม เพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษต่อไป   ซึ่งโทษทางอาญาทหารตามประมวลกฎหมายอาญาทหารนั้น โดยหลักๆแล้วจะมีเพียงโทษจำคุกกับโทษประหารชีวิตเท่านั้น
                   ๒. การกระทำความผิดอาญาตามกฎหมายบ้านเมือง อันได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นๆที่มีโทษทางอาญา เช่น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ , พ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญาอื่นๆ ทหารที่กระทำความผิดกฎหมายดังกล่าวจะถูกดำเนินคดีในสองลักษณะ ขึ้นอยู่กับผู้ร่วมกระทำความผิด อันได้แก่
                       ๒.๑ หากทหารกระทำผิดเพียงลำพัง หรือร่วมกระทำความผิดกับทหารด้วยกัน หรือกับบุคคลอื่นๆซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ( ตาม พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๑๖ ) เช่น นักเรียนทหาร,  พลเรือนในสังกัดหน่วยงานทหาร ( เช่น ลูกจ้าง ) ที่กระทำผิดในหน้าที่ราชการทหารหรือทำผิดในพื้นที่ทหาร ,ผู้ที่ต้องขังหรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเชลยศึก ซึ่งเท่ากับว่าผู้กระทำผิดทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลในอำนาจศาลทหาร จึงต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามที่กล่าวไว้ในข้อ ๑  ( แม้ว่าความผิดที่กระทำจะมิใช่ความผิดทางทหารก็ตาม ) เป็นการพิจารณาโดยยึดหลักเกณฑ์ที่ตัวบุคคลผู้กระทำผิด
                       ๒.๒  หากมีผู้ร่วมกระทำความผิดแม้เพียงคนใดคนหนึ่งที่เป็นพลเรือนซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร โดยมิใช่ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลและความผิดที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะว่าผู้กระทำต้องขึ้นศาลทหารเท่านั้น ( เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๗ – ๓๘/๒๕๕๗ , ฉบับที่ ๔๓/๒๕๕๗ ,ฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ )  หรือหากเป็นความผิดที่กระทำนั้นเกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน คดีเหล่านี้จะถือว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ผู้กระทำความผิดจะต้องถูกส่งไปดำเนินคดีในศาลพลเรือน( ศาลยุติธรรม ) เท่านั้น ( ตาม พ.ร.บ.ศาลทหารฯ มาตรา ๑๔ ( ) ( ) และมาตรา ๑๕ วรรคแรก ) โดยเริ่มกระบวนการจากการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน ( กรณีมีผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้กระทำความผิดถูกจับกุมตัว )        เพื่อรวบรวมสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณา  หรือผู้เสียหายอาจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรง จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จนมีคำพิพากษาที่ทำให้คดีถึงที่สุด       ซึ่งอาจถูกลงโทษทางอาญาใน ๕ สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ( ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ )
                   หากมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือหนักกว่าจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาของศาลทหารหรือศาลยุติธรรม ก็จะเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องถูกปลดจากราชการ     ตามคำสั่ง ทบ.ที่ ๑๗๖/๒๕๐๘ ลง ๑๐ มิ.ย.๒๕๐๘ ข้อ ๑.๒ และต้องถูกถอดจากยศทหาร ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ฯ ข้อ ๒.๒  

                   กรณีที่สาม เมื่อทหารกระทำผิดทางแพ่ง
                   การกระทำผิดทางแพ่ง คือ การกระทำผิดตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชน บุคคลทั่วไป อันได้แก่ การทำนิติกรรมสัญญารูปแบบต่างๆเช่น ซื้อขาย กู้ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ เป็นต้น , การทำละเมิดที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน , คดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือมรดก , คดีหนี้สินต่างๆ  ดังนี้เป็นต้น   ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางแพ่งจะต้องถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีในศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาให้บังคับคดีตามฟ้องของโจทก์ เช่น ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้ชำระหนี้ ให้กระทำการหรืองดเว้นการกระทำการต่างๆที่มีผลกระทบต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย
                   เมื่อทหารกระทำผิดทางแพ่ง เช่น เป็นหนี้แล้วไม่ชำระ กระทำละเมิดต่อผู้อื่นและถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ถูกภรรยาน้อยฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดู ฯลฯ หากผู้เสียหายฟ้องร้องและไม่สามารถไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความกันได้ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยศาลยุติธรรมเพียงอย่างเดียว เพราะไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร ( ศาลทหารพิจารณาเฉพาะคดีอาญา )
                   กระบวนการพิจารณาคดีแพ่งของศาลยุติธรรม จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตั้งแต่มีการยื่นฟ้องจนกระทั่งมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งผู้กระทำผิดที่เป็นจำเลยในคดีอาจต้องรับโทษทางแพ่ง ซึ่งปกติก็คือการชำระหนี้ ชำระค่าเสียหาย หรือบังคับคดีตามฟ้องโจทก์ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งแม้โทษจะไม่หนักเท่ากับคดีอาญา แต่ในบางคดีก็อาจส่งผลถึงสถานภาพหรือหน้าที่ราชการได้ เช่น ต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดทางแพ่งที่เข้าข่ายการประพฤติชั่วร้ายแรง  ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นคนล้มละลายเพราะทำหนี้สินขึ้น หรือต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่เป็นอันมาก ก็เข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูกปลดออกจากราชการได้ และถ้าหากตกเป็นบุคคลล้มละลายเพราะทำหนี้สินขึ้นด้วยความทุจริตหรือเข้าข่ายประพฤติชั่วร้ายแรงก็ต้องถูกถอดจากยศทหาร ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ฯ


                   กรณีที่สี่ เมื่อทหารกระทำผิดตามกฎหมายปกครอง
                   กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายมหาชนประเภทหนึ่ง ที่บัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน รวมถึงกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้อำนาจกับฝ่ายเอกชน ซึ่งตัวบทกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่      พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ , พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
                   ทหารและหน่วยงานทหารล้วนมีโอกาสตกเป็นผู้กระทำความตามกฎหมายปกครอง หรือที่เรียกว่า “ คดีปกครอง” ได้  เนื่องจากหน่วยทหารทุกระดับที่เป็นส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม ถือเป็น “หน่วยงานทางปกครอง” ตามความหมายของกฎหมายปกครอง และข้าราชการทหารในหน่วยทหารก็อาจเป็น “เจ้าหน้าที่ทางปกครอง ” ซึ่งซึ่งมีอำนาจในการ “ กระทำการทางปกครอง ” เช่น ออกคำสั่งทางปกครอง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรืออาจทำสัญญากับเอกชนในลักษณะที่เป็น “สัญญาทางปกครอง” ซึ่งหากปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ ก่อให้เกิดผลกระทบ ละเมิด หรือเกิดความเสียหายต่อคู่กรณี ก็อาจถูกฟ้องร้องเป็นคดีปกครองและถูกดำเนินคดีในศาลปกครอง
                   ยกตัวอย่าง  เช่น ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจออกคำสั่งเลื่อนชั้นเงินเดือน เลื่อนยศ คำสั่งปลด หรือคำสั่งปรับย้ายกำลังพลโดยมิชอบ ,   ข้าราชการทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวกระทำละเมิดต่อประชาชน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ( ซึ่งเป็นทั้งความผิดอาญาและอาจถูกดำเนินคดีปกครองด้วย ) ดังนี้เป็นต้น
                   เมื่อทหารหรือหน่วยทหารถูกฟ้องคดีปกครองโดยผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดี ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีโดยศาลปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีก็มีหน้าที่ยื่นคำให้การหรือพยานหลักฐานเพื่อแก้คดีเช่นเดียวกับจำเลยในศาลยุติธรรม โดยศาลจะพิจารณาโดยระบบไต่สวน คือ สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนอกเหนือจากพยานหลักฐานที่คู่กรณียื่นต่อศาลได้  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคู่กรณีมากที่สุด ก่อนจะมีคำพิพากษา โดยอาจสั่งให้เพิกถอนกฎ ระเบียบ คำสั่งตามถูกฟ้องว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติใดๆเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย แล้วแต่กรณี
                   โดยในการบังคับคดีปกครองนั้น ปกติแล้วเมื่อเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำผิดในทางปกครอง หลักกฎหมายปกครองบัญญัติให้ฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่นั้นๆ หน่วยงานจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วค่อยไปไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดภายหลัง
                   รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการตามกฎหมายปกครองที่เกี่ยวกับทหารมีมากพอสมควร เกินกว่าที่จะนำมาอธิบายได้หมดในบทความนี้ ผู้เขียนจึงเพียงแต่สรุปภาพรวมในมุมกว้าง ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมพระธรรมนูญ สำนักงานพระธรรมนูญเหล่าทัพต่างๆ ศาลปกครอง และหนังสือที่น่าสนใจ เช่น คู่มือผู้บังคับหน่วยและฝ่ายอำนวยการทางทหารกับศาลปกครอง เขียนโดย  พล.ท.ทวี  แจ่มจำรัส เป็นต้น และหากมีโอกาส ผู้เขียนจะได้นำเสนอเรื่องนี้โดยเฉพาะต่อไป
                  
                   อย่างไรก็ตาม ผลแห่งการดำเนินการเมื่อทหารตกเป็นผู้กระทำผิดใน ๔ กรณีที่กล่าวมา ทหารผู้นั้นอาจได้รับผลแห่งการกระทำคือบทลงโทษตามผลการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาหรือโดยคำพิพากษาของศาล หรืออีกมุมหนึ่งก็อาจจะไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆในกรณีผลแห่งการพิจารณาไม่สามารถเอาผิดกับผู้นั้นได้  เช่น พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิด ได้รับการปรานีผ่อนผัน หรือกรณีอื่นๆ
                   แต่ไม่ว่าจะอย่างไร หากกระทำผิดจริงแล้ว โดยเฉพาะถ้ากระทำผิดโดยเจตนา แม้ว่าอาจจะรอดพ้นจากเงื้อมมือกฎหมาย แต่ผู้เขียนเชื่อว่าสุดท้ายก็หนีไม่พ้นกฎแห่งกรรม ที่ผู้ใดทำอะไรไว้ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำของตน ดังที่มีคำกล่าวว่า “ บางครั้งกฎหมายอาจมีช่องโหว่ แต่กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ !!